posttoday

AI ตรวจจับสัญญาณพาร์กินสัน สามารถรู้ตัวล่วงหน้าได้ถึง 7 ปี

18 กันยายน 2566

โรคทางระบบประสาท อีกหนึ่งด่านปราบเซียนแม้แต่กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บางครั้งสัญญาณเล็กน้อยถูกละเลย กว่าจะรู้ตัวจนเข้ารับการรักษาก็สายเกิน แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้น AI ตรวจพาร์กินสัน ที่วินิจฉัยการก่อโรคล่วงหน้าถึง 7 ปี

พาร์กินสัน อีกหนึ่งโรคร้ายทางสมองและระบบประสาท มีต้นตอมาจากการเสื่อมของสมองส่วนกลางและระบบประสาท เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปและสามารถพบได้บ่อยในหมู่ผู้สูงอายุรองจากอัลไซเมอร์ ในประเทศไทยเองผู้มีโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันก็มีจำนวนกว่า 1 แสนคนเลยทีเดียว

 

          ส่วนที่ทำให้การรับมือพาร์กินสันเป็นเรื่องยากคือ ปัจจุบันเรายังไม่ค้นพบสาเหตุก่อโรคแน่ชัด ทำให้ไม่มีทั้งการรักษา ฟื้นฟู หรือป้องกันล่วงหน้า ทำได้เพียงรักษาตามอาการประวิงเวลา ถือเป็นโรคที่รับมือยากและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก การรู้ตัวเร็วจึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือพาร์กินสัน

 

          ล่าสุดจึงเรีมมาการคิดต้นแนวทางวินิจฉัยรูปแบบใหม่ ช่วยให้สามารถตรวจพบโรคนี้ล่วงหน้าได้สูงสุดถึง 7 ปี

 

AI ตรวจจับสัญญาณพาร์กินสัน สามารถรู้ตัวล่วงหน้าได้ถึง 7 ปี

 

การตรวจพาร์กินสันผ่าน AI สแกนจอประสาทตา

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University College London และ Moorfields Eye Hospital นำไปสู่การพัฒนาระบบวินิจฉัยทางการแพทย์รูปแบบใหม่ อาศัยการสแกนจอประสาทตา 3 มิติมาวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์  จนสามารถทำการวินิจฉัยโรคล่วงหน้าก่อนเกิดอาการได้

 

          ความสำเร็จในส่วนนี้เกิดขึ้นจาก งานวิจัยที่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จะมีชั้นนิวเคลียสของจอตา(INL)บางกว่าคนทั่วไป แม้เรายังไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมจอประสาทตาจึงเกิดผลกระทบ แต่ข้อมูลนี้ก็นำไปสู่แนวคิดในการใช้ข้อมูลจากภาพสแกนของจอประสาทตา 3 มิติ มาประเมินโอกาสในการเกิดโรคของผู้ป่วย

 

          ความแตกต่างและอาการที่แสดงออกมาทางจอประสาทตาในช่วงแรก ถือเป็นองค์ประกอบเล็กน้อยที่ถูกละเลยได้ง่ายในการตรวจทั่วไป ถือเป็นข้อมูลความละเอียดอ่อนสูงซึ่งยากต่อการแยกแยะแม้จะเป็นจักษุแพทย์ชำนาญการ จึงจำเป็นต้องพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มาทำแทน

 

          ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการพัฒนาระบบ AI โดยนำเอาข้อมูลภาพจอประสาทตากว่า 7.7 ล้านภาพมาใช้เป็นข้อมูล ร่วมกับจอประสาทตาของคนอีกกว่า 85,000 คู่ สู่ระบบการตรวจจับร่องรอยความผิดปกติทางจอประสาทตาชนิดใหม่ ที่ช่วยให้เราสามารถตรวจพบสัญญาณแรกเริ่มของโรคพาร์กินสันล่วงหน้า

 

          ระบบนี้จะช่วยเผยความเสี่ยงในการเกิดโรคให้แก่ผู้รับการตรวจแต่ละรายล่วงหน้าถึง 7 ปี ช่วยให้ผู้ป่วยเตรียมการรับมือโรคที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตที่อาจเป็นสาเหตุการก่อโรค รวมถึงยังช่วยให้แพทย์ชะลออาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้น ไปจนค้นหาแนวทางรักษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

 

AI ตรวจจับสัญญาณพาร์กินสัน สามารถรู้ตัวล่วงหน้าได้ถึง 7 ปี

 

แนวโน้มการใช้งานระบบสแกนจอประสาทตา สู่อนาคตที่คาดการณ์โรคภัยล่วงหน้า

 

          เป้าหมายของทีมวิจัยไม่ได้จบลงเพียงใช้ในการระบุโรคพาร์กินสัน พวกเขายังมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบ AI ให้สามารถประมวลผลภาพข้อมูลจากการสแกนจอประสาทตา ให้ใช้ในการตรวจสอบแนวโน้มและประเมินความเสี่ยงของโรคทางระบบประสาทชนิดอื่นๆ ด้วย

 

          ส่วนนี้เกิดจากข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตา เนื่องจากเซลล์ประสาทตาเชื่อมโยงกับแนวโน้มการเกิดโรคทางระบบประสาทมากมาย ตั้งแต่โรคจิตเภท อัลไซเมอร์ ไปจนปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ไปจนอาจถูกนำไปใช้ในการประเมินโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง รวมถึงเบาหวาน

 

          หากทำสำเร็จนี่จะถือเป็นแนวทางการตรวจโรคทางระบบประสาทและหลอดเลือดรูปแบบใหม่เลยทีเดียว

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจตั้งคำถามต่อการสแกนจอประสาทตา 3 มิติ ทั้งในด้านวิธีการและค่าใช้จ่าย แต่อันที่จริงการสแกนจอประสาทตานี้สามารถทำได้ทั่วไป ทั้งตามคลินิกจักษุหรือแม้แต่ร้านแว่นตาทั่วไป และสามารถทำได้โดยอาศัยระยะเวลาไม่ถึง 1 นาที ก็สามารถสแกนออกมาเป็นภาพ 3 มิติที่ลงรายละเอียดในระดับ 0.1 ไมโครเมตร

 

          นี่จึงถือเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทั่วไป ใช้งานง่ายแทบไม่ต้องเสียเวลารอ อีกทั้งยังสามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนได้ง่าย เพราะอันที่จริงการสแกนจอประสาทตาดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนวัดค่าสายตาที่เราทำอยู่ทุกครั้งเมื่อไปตัดแว่นใหม่ จนแทบจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ทั่วไป

 

          ทางทีมวิจัยจึงคาดหวังให้มีการนำข้อมูลสแกนจอประสาทตามาใช้ประโยชน์มากขึ้น ด้วยคุณสมบัติในการตรวจสอบโรคทางระบบประสาทได้หลากหลาย จะสามารถใช้ในการคัดกรองโอกาสในการเกิดโรคร้ายแรงหลายชนิดเบื้องต้น ช่วยให้สามารถรับมือโรคทางระบบประสาทและหลอดเลือดได้ดียิ่งขึ้น

 

          นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจโรคทางระบบประสาทในปัจจุบัน ทั้งการเก็บตัวอย่างจากน้ำไขสันหลังหรือการสแกนสมอง ขั้นตอนการตรวจเหล่านี้ล้วนมีความซับซ้อน ยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายสูง สร้างภาระให้แก่ทั้งคนไข้และโรงพยาบาล แตกต่างจากการใช้ภาพสแกนจอประสาทตาจึงเป็นการเพิ่มความสะดวกแบบก้าวกระโดด

 

          ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการตรวจโรคทางระบบประสาทแบบใหม่ที่อาจนำไปใช้งานทั่วไปในอนาคต

 

 

 

          อย่างไรก็ตามกระบวนการทั้งหมดล้วนอยู่ในขั้นค้นคว้าวิจัย จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมหลายด้าน โดยเฉพาะในส่วนความแม่นยำที่อาจยังมีข้อกังขาอยู่บ้าง แต่เป็นไปได้สูงว่าในอนาคตเราอาจสามารถตรวจโรคทางระบบประสาทผ่านอุปกรณ์วัดค่าสายตาเพียงเครื่องเดียว

 

          บางทีเทคโนโลยีนี้อาจเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการตรวจสุขภาพและวงการแพทย์ก็เป็นได้

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://interestingengineering.com/health/ai-detects-parkinsons-from-eye-scans

 

          https://www.eurekalert.org/news-releases/999003?