posttoday

อวัยวะหมูตัดแต่งพันธุกรรม แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะ

14 กันยายน 2566

หลายท่านคงเคยได้ยินการปลูกถ่ายอวัยวะหมูเข้าสู่คนกันมาบ้าง อาจนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงนำชิ้นส่วนของสัตว์อื่นเข้าสู่ร่างกาย แต่อันที่จริงการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์เกิดขึ้นมายาวนาน และยังอาจเป็นแนวทางช่วยชีวิตคนมากมายในอนาคต

การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ถือเป็นแนวทางรักษาที่เราได้ยินกันมานาน ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเมื่ออวัยวะล้มเหลวจนผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยอาการหนักมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ดังเดิม

 

          แน่นอนการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยขั้นตอนผ่าตัดยากเย็น การพักฟื้นกินเวลานาน อีกทั้งการดูแลรักษายังซับซ้อน จึงถูกยกให้เป็นตัวเลือกอันดับท้ายๆ ในขั้นตอนการรักษา แต่สิ่งที่ทำให้การรักษาแนวทางนี้ทำได้ยากคือข้อจำกัดในการหาอวัยวะมาปลูกถ่าย

 

          จำนวนผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายน้อยกว่าจำนวนผู้บริจาคหลายเท่า จึงมีผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตโดยที่ไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษา เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอวัยวะจึงเกิดความพยายามค้นคว้าวิจัยหลายด้าน ทั้งการเพาะเนื้อเยื่อในแลปหรือการพัฒนาอวัยวะเทียมขึ้นมามากมาย

 

          ในขณะเดียวกันเมื่อไม่สามารถหาอวัยวะมาใช้งานทดแทนได้ จึงเริ่มมีแนวคิดในการ ปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ เช่นกัน

 

อวัยวะหมูตัดแต่งพันธุกรรม แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะ

 

อวัยวะจากหมู และปัญหาในการใช้งาน

 

          การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ หรือ Xenotransplantation ไม่ใช่แนวคิดใหม่ ได้รับการคิดค้นเป็นครั้งแรกในช่วงยุคปี 1980 กับเคสผู้ป่วยทารกที่เป็นโรคหัวใจและจำเป็นต้องได้การปลูกถ่ายอวัยวะ นำไปสู่การทดลองใช้หัวใจลิงบาบูนมาปลูกถ่าย แต่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยเสียชีวิตหลังได้รับการปลูกถ่ายราว 1 เดือน จากการปฏิเสธของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

 

          แม้การรักษาครั้งนั้นจะประสบความล้มเหลว แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ สู่การนำลิ้นหัวใจหมูมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยอย่างแพร่หลาย เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ได้รับความนิยมในการรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจจนปัจจุบัน

 

          กรณีโด่งดังที่สุดของการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์คือ การปลูกถ่ายหัวใจหมูสู่คน กับผู้ป่วยโรคหัวใจระยะสุดท้ายที่ต้องการหัวใจใหม่ แต่สภาพร่างกายเขาแย่จนไม่ผ่านเกณฑ์การปลูกถ่ายอวัยวะ นำไปสู่การเสี่ยงเดิมพันทดสอบเปลี่ยนหัวใจหมูเข้าสู่ร่างกาย จนสุดท้ายสามารถยืดชีวิตของเขาออกไปได้ราว 2 เดือน

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจเริ่มเกิดข้องสงสัยและตั้งคำถามว่า เหตุใดอวัยวะที่ทำการปลูกถ่ายจึงเป็นหมู เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากรูปแบบอวัยวะของหมูและมนุษย์มีความใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับขนาดของชิ้นส่วนอวัยวะแทบไม่มีความแตกต่าง จึงถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจ

 

          อย่างไรก็ตามปัญหาของการนำอวัยวะหมูมาปลูกถ่ายคือ การปฏิเสธอวัยวะของระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงการติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ แม้ตัวหมูที่นำมาใช้ปลูกถ่ายจะได้รับการเลี้ยงดูในระบบปิดเพื่อให้ปลอดเชื้อ และตัดต่อพันธุกรรมให้เข้ากับคนมากขึ้นแล้วก็ตาม

 

          แต่ล่าสุดเริ่มมีความหวังมากขึ้นเมื่ออวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายสามารถทำงานได้เสถียรแม้ผ่านไปนานนับเดือน

 

อวัยวะหมูตัดแต่งพันธุกรรม แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะ

 

การปลูกถ่ายไตหมูสู่มนุษย์ ความหวังสำหรับผู้ป่วยไตวาย

 

          อันที่จริงการปลูกถ่ายไตหมูสู่มนุษย์เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2021 กับการปลูกถ่ายไตหมูให้แก่ผู้ป่วยสมองตาย และสามารถทำให้ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายสามารถทำงานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยคนดังกล่าวเสียชีวิตในอีกสองเดือนต่อมา ด้วยสาเหตุจากการติดเชื้อ Porcine Cytomegalovirus (PCMV) จากอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย

 

          ถือเป็นเรื่องช่วยไม่ได้กับการติดเชื้อเมื่อเราทำการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์เข้าสู่ร่างกาย อีกทั้งในระหว่างการฟื้นตัวร่างกายเราจำเป็นต้องรับยากดภูมิคุ้มกันปริมาณมากเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ นำไปสู่การติดเชื้อผ่านอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย แม้ตามปกติจะไม่เคยพบการติดเชื้อ PCMV ในมนุษย์เลยก็ตาม

 

          แต่ล่าสุดจากผลงานของทีมแพทย์จาก NYU Langone Health ทีมแพทย์เดิมที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหมูสู่มนุษย์สำเร็จเมื่อปี 2021 ครั้งนี้พวกเขาปลูกถ่ายไตหมูสู่มนุษย์อีกครั้งให้แก่ชายสมองตายในวัย 57 ปี แต่คราวนี้ไม่มีปฏิกิริยาปฏิเสธอวัยวะ หรือการติดเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตแบบในรอบก่อน แม้จะได้รับการปลูกถ่ายเป็นเวลากว่า 32 วันแล้วก็ตาม

 

          ความสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ในครั้งนี้ถือเป็นสถิติใหม่ ที่ผู้ป่วยสามารถรองรับไตหมูโดยไม่เกิดปฏิกิริยาหรือผลกระทบทางสุขภาพเพิ่มเติม โดยอาศัยเทคนิคการใส่ต่อมไทมัสที่มีเฉพาะในหมูพ่วงไปพร้อมกับไต เพื่อให้ร่างกายเกิดความคุ้นเคยและไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านกับภูมิคุ้มกัน จนสามารถใช้ในการผลิตปัสสาวะได้ตามปกติ

 

          อีกหนึ่งขั้นตอนความสำเร็จคือการตัดแต่งพันธุกรรมยีนของหมูที่ได้รับการปลูกถ่าย โดยครั้งนี้พวกเขาทำการตัดแต่งพันธุกรรมเพียงหนึ่งตำแหน่ง เพื่อป้องกันภาวะปฏิเสธอวัยวะเฉียบพลันที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อใช้ควบคู่กับยากดภูมิคุ้มกันก็เพียงพอสำหรับการปลูกถ่าย ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออวัยวะและร่างกายผู้ป่วยมากเกินไป

 

          นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวแห่งความสำเร็จที่อาจทำให้เราไม่ต้องรอรับบริจาคอวัยวะอย่างเดียว

 

 

 

          แน่นอนทั้งหมดนี้เป็นเพียงการทดลองกับผู้ป่วยสมองตาย ยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายขั้นตอนในการนำมาใช้จริง อย่างไรก็ตามนี่ก็ถือเป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยโรคไตมากมายบนโลก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้อีกมาก

 

          นอกจากนี้หากการวิจัยปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ประสบผลสำเร็จ ในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องรอผู้บริจาคมนุษย์อีกต่อไป แก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะบริจาคอย่างถาวร รวมถึงอาจช่วยลดอาชญากรรมจากการค้าอวัยวะที่ยังคงแพร่หลายและมีความต้องการสูงจนปัจจุบัน

 

          ด้วยเหตุนี้เราคงได้แต่คาดหวังว่าการปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้ใช้งานในเร็ววัน

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.sunpasit.go.th/health/media/05ce6494c532c5dd5783ebc50eb5f076.pdf

 

          https://www.nytimes.com/2023/08/16/health/pig-kidney-organ-transplants.html

 

          https://www.beartai.com/lifestyle/912270

 

          https://nyulangone.org/news/pig-kidney-xenotransplantation-performing-optimally-after-32-days-human-body