ฝรั่งเศสเตรียมแบนการใช้ชื่อเนื้อสัตว์สำหรับอาหารที่ทำจากพืช
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสเปิดเผยร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงที่ห้ามการใช้ชื่อเนื้อสัตว์ เช่น "สเต็ก" และ "ซี่โครง" สำหรับอาหารที่ทำจากพืชที่ผลิตในประเทศ ชี้เป็นความพยายามหลีกเลี่ยง "การกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด" เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ทดแทนบางชนิด
ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่พยายามบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ฝรั่งเศสได้พยายามผ่านมาตรการดังกล่าวตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว แต่ศาลปกครองสูงสุดของประเทศได้สั่งระงับในอีกหนึ่งเดือนต่อมา โดยแย้งว่าข้อกำหนดคลุมเครือเกินไปและ ระยะเวลาบังคับใช้กระชั้นเกินไป
ตลาดโปรตีนจากพืชทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมนี้มักใช้การอ้างอิงถึงผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์และผู้แปรรูปเนื้อสัตว์ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป
ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ซึ่งใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายในฝรั่งเศสเท่านั้น กำหนดห้ามใช้รายชื่อเนื้อสัตว์ 21 ชื่อเพื่ออธิบายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนเป็นหลัก เช่น "สเต็ก" " "ซี่โครง" "แฮม" หรือ "บุชเชอร์"
อย่างไรก็ตาม ชื่อที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์อีกมากกว่า 120 ชื่อ เช่น "แฮมปรุงสุก" "สัตว์ปีก" "ไส้กรอก" หรือ"เบคอน" จะยังคงได้รับอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่าผลิตภัณฑ์ต้องมีโปรตีนจากพืชไม่เกินจำนวนที่กำหนด โดยมีเปอร์เซ็นต์อยู่ระหว่าง 0.5% และ 6%
“ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่นี้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของเราที่จะยุติการกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด … โดยใช้ชื่อที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ในอาหารที่ไม่มีส่วนผสมดังกล่าว” มาร์ก เฟสโน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศส กล่าวในแถลงการณ์
“มันเป็นเรื่องของความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวังที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้บริโภคและผู้ผลิต” เขากล่าวเสริม
คำว่า "เบอร์เกอร์" ซึ่งหลายแบรนด์ใช้เพื่อดึงดูดผู้บริโภคไม่รวมอยู่ในรายการที่ถูกสั่งห้ามในครั้งนี้
พระราชกฤษฎีกานี้จะมีผลใช้บังคับสามเดือนหลังจากการตีพิมพ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับเปลี่ยนการติดฉลาก นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตขายสต็อคผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มีป้ายกำกับก่อนที่จะมีผลบังคับใช้อย่างช้าที่สุดหนึ่งปีหลังจากการเผยแพร่