posttoday

ภารกิจสำเร็จ ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย เข้าโหมด 'Sleep'

04 กันยายน 2566

อินเดียปิดเครื่องยานโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์ ซึ่งเป็นยานลำแรกที่ไปถึงขั้วใต้ของดวงจันทร์ หลังจากเสร็จสิ้นการทดลองนาน 2 สัปดาห์ เตรียมรองรับภารกิจใหม่หลังมีแสงอาทิตย์อีกครั้ง

รถแลนด์โรเวอร์ ปรัชยาน (Pragyan) จากยานอวกาศ จันทรายาน-3 Chandrayaan-3 ถูก "ตั้งค่าให้อยู่ในโหมดสลีป" แต่แบตเตอรี่ยังคงชาร์จอยู่และยังเปิดตัวรับสัญญาณไว้ องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) ระบุในโพสต์บน X ซึ่งเดิมเรียกว่า Twitter เมื่อช่วงดึกของวันเสาร์

“เราหวังว่ายานจะประสบความสำเร็จในการตื่นขึ้นสำหรับงานชุดอื่น!” ISRO กล่าว “ไม่เช่นนั้น มันจะอยู่ที่นั่นตลอดไปในฐานะทูตจันทรคติของอินเดีย”

โดยเสริมว่า ขณะนี้แบตเตอรีของยานได้รับการชาร์จเต็มแล้ว โดยแผงโซลาร์เซลล์จะได้รับแสงเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 22 กันยายนนี้

ภารกิจสำเร็จ ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย เข้าโหมด \'Sleep\'

หลังส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ อินเดียจึงได้เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกา จีน และอดีตสหภาพโซเวียตในการเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางอวกาศที่ส่งยานไปดวงจันทร์สำเร็จ แต่มันไปไกลกว่าในการไปถึงขั้วโลกใต้อันขรุขระ ไม่นานหลังจากที่ Luna-25 ของรัสเซียจะล้มเหลวจากการสูญเสียการควบตุมจนชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วยความพยายามคล้าย ๆ กัน

การทำทัชดาวน์แบบนุ่มนวลของ Chandrayaan-3 หลังจากความพยายามที่ล้มเหลวในปี 2019 สร้างความยินดีอย่างกว้างขวางในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก สื่อต่างยกย่องการลงจอดดังกล่าวว่าเป็นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย

อินเดียได้ส่งยานอวกาศจันทรายาน-3 สู่ห้วงอวกาศ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ก่อนที่ยานลงจอดวิกรม (Vikram) ลงจอดอย่างปลอดภัยบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา

 ISRO เปิดเผยว่า ปรัชยาน เดินทางเป็นระยะทางกว่า 100 เมตร เพื่อยืนยันการมีอยู่ของกำมะถัน เหล็ก ออกซิเจน และองค์ประกอบอื่นๆ บนดวงจันทร์

ผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ หลังอินเดียกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ส่งยานอวกาศลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จ ตอนนี้ อินเดียมีเป้าหมายใหม่แล้ว นั่นคือการไปศึกษาดวงอาทิตย์

ภารกิจสำเร็จ ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย เข้าโหมด \'Sleep\'

ถึงตอนนี้อินเดียกำลังตั้งความหวังไปที่ความสำเร็จของยาน อาทิตยา ซึ่งเพิ่งยิงขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันเสาร์เพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ โดยจะทำหน้าที่สังเกตลมสุริยะที่อาจก่อให้เกิดการรบกวนบนโลกที่มักเห็นเป็นแสงออโรรา

“ดาวเทียมดวงนี้อยู่ในสภาพดี” และอยู่ในวงโคจรของโลก ISRO กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ ขณะที่กำลังเตรียมการเดินทางระยะทาง 1.5 ล้านกิโลเมตร (930,000 ไมล์)