posttoday

สื่อนอกชี้ เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีบนความไม่แน่นอน

23 สิงหาคม 2566

สื่อต่างประเทศวิเคราะห์การขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศของ เศรษฐา ทวีสิน อยู่บนความไม่แน่นอน เพราะต้องร่วมกับพรรคการเมืองนิยมทหารซึ่งเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคเพื่อไทย คาดอาจจุดชนวนการประท้วงจากผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล

CNN ระบุว่าเศรษฐาเป็นมือใหม่ทางการเมือง มาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยในปี 2565 ก่อนที่จะได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสามผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะจากข้อเสนอการปฏิรูปโดยใช้ประโยชน์จากความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นมานานหลายปีกับการปกครองประเทศไทย แต่ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลถูกขัดขวางโดยกลุ่มชนชั้นสูงทางการเมือง ทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งมาเป็นอันดับสองต้องจัดตั้งพันธมิตรใหม่

โดยเพื่อให้ได้คะแนนเสียงที่จำเป็น พรรคเพื่อไทยได้ทำข้อตกลงกับอดีตคู่แข่งที่เป็นพรรคนิยมทหาร และเป็นการฝืนสัญญาว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ทำงานร่วมกับพรรคที่สนับสนุนทหาร คือพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้นำรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาที่กำลังจะพ้นวาระ ซึ่งเป็นผู้ที่โค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ซึ่งนำโดยน้องสาวของทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเกือบหนึ่งทศวรรษที่แล้ว

ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นการล้มล้างเจตจำนงของคนไทยหลายล้านคนที่ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ขณะที่พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน การจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะเติมเชื้อเพลิงให้กับฐานสนับสนุนรุ่นเยาว์ของขบวนการก้าวหน้าที่อาจเกิดการประท้วงครั้งใหญ่บนท้องถนน นอกจากนี้ การกลับมาของทักษิณ บุคคลที่สร้างความแตกแยกอย่างลึกซึ้งซึ่งถูกโค่นล้มในการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ได้เพิ่มความไม่แน่นอนอีกชั้นหนึ่งให้กับบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่แน่นอนนี้

 ในการให้สัมภาษณ์กับ CNN ก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม เศรษฐากล่าวว่าเขาไม่ใช่คนของทักษิณและกระตือรือร้นที่จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ของประเทศไทย ส่งเสริมสิทธิของ LGBTQ+ รวมถึงการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ขจัดการทุจริต และทำให้ประเทศกลับมาอยู่บนเวทีโลกอีกครั้ง แต่ด้วยสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลถึง 11 พรรคที่มีคู่แข่งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทหารอันขมขื่น จึงไม่ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถปกครองได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่

ขณะที่รอยเตอร์ มองว่า เศรษฐา วัย 60 ปี นักการเมืองรุ่นใหม่และอดีตประธานบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรู แสนสิริ เพิ่ง ถูกจับตามองเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังห่างไกลจากความมั่นคง เพราะยังอยู่ในอิทธิพลของสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นฝ่ายกองทัพหลายร้อยคน เศรษฐาจะได้รับมอบหมายให้จัดตั้งและรวมกลุ่มแนวร่วมรัฐบาลที่อาจมีความเปราะบาง เพราะเป็นการรวมกับพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยกองทัพ  ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลเพื่อไทยด้วยการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 หนึ่งในผู้ถูกขับไล่ ได้แก่ ทักษิณ อดีตมหาเศรษฐีด้านโทรคมนาคม และ น้องสาวของเขา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประสบชะตากรรมที่เกือบจะเหมือนกันในฐานะนายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่ปีต่อมา ทั้งสองกล่าวว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อพวกเขามีแรงจูงใจทางการเมือง

การกลับมาของทักษิณและการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดอย่างราบรื่นอย่างน่าประหลาดใจของเศรษฐา เป็นการเพิ่มการคาดเดาว่าทักษิณได้ทำข้อตกลงกับศัตรูของเขาทั้งในกองทัพและการเมือง เพื่อให้เขากลับมาอย่างปลอดภัย และอาจได้รับการปล่อยตัวจากคุกก่อนกำหนด

ทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว