posttoday

ร้านสะดวกซื้อในเยอรมันเก็บเงินสินค้าเพิ่มให้ครอบคลุมต้นทุนสิ่งแวดล้อม

02 สิงหาคม 2566

Penny ร้านสะดวกซื้อราคาถูกในเยอรมัน ได้ขอให้ลูกค้าชำระเงินเพิ่มสำหรับสินค้าบางรายการเพื่อให้ครอบคลุม "ต้นทุนที่แท้จริง" ของสินค้านั้นๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความตระหนักเกี่ยวกับราคาด้านสิ่งแวดล้อมของการผลิตอาหาร

ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลาง ในปี 2022 ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่สุดของยุโรปอย่างเยอรมัน ประชาชนใช้เงินเพียง 11.1%  ของงบประมาณครัวเรือนสำหรับการซื้ออาหาร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปโดยรวมซึ่งอยู่ที่ 15.9% ขณะที่สเปนอยู่ที่ 20.6% และอิตาลี 17.9% 

อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารที่ถูกในเยอรมัน มักถูกผลิตในอุตสาหกรรมที่ต้องแลกมาด้วยราคาด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น โดยภาคเกษตรกรรมของเยอรมันมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 55.5 ล้านเมตริกตันในปีที่แล้ว หรือประมาณ 7.4% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดของประเทศ

ขณะที่ทางด้าน Stefan Goergens สมาชิกคณะกรรมการของ Penny ระบุว่า “เราต้องเผชิญกับข้อความจำนวนมาก ที่แสดงถึงความไม่สบายใจว่าราคาอาหารของเราซึ่งมีราคาถูก ไม่สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสังคม”

ในระหว่างแคมเปญ "ต้นทุนที่แท้จริง (true cost)" ซึ่งจะดำเนินการไปจนถึงวันเสาร์ ลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายในร้านสะดวกซื้อ Penny ซึ่งมีอยู่ราว 2,150 สาขา จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ 9 รายการ ตั้งแต่โยเกิร์ตไปจนถึงไส้กรอกและ Schnitzel สำหรับมังสวิรัติ โดยราคาที่เรียกเก็บเพิ่มได้รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเช่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของประชากร ความสมบูรณ์ของดินและน้ำ ขณะเดียวกันทางร้านก็จะแสดงราคาสินค้าตามปกติที่ยังไม่ได้รวมต้นทุนที่แท้จริงเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ราคาชีส 300 กรัม จากเดิมที่ราคา 2.49 ยูโร จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 ยูโร

ทางบริษัท Penny ระบุว่าจะบริจาคเงินส่วนต่างที่เรียกเก็บเพิ่มจากลูกค้าให้กับโครงการที่จะช่วยให้การทำเกษตรมีความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัททราบดีว่ายอดขายอาจจะลดลงเป็นอย่างมากเนื่องจากผู้บริโภคยังต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของเยอรมันจะมีแนวโน้มลดลง แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้วราคาอาหารยังคงสูงกว่าราว 11% ตามข้อมูลเบื้องต้นจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลาง และท้ายที่สุด ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นมาจากสภาพอากาศสุดขั้ว เว้นแต่ว่าเยอรมันและประเทศอื่นๆ จะสามารถควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคการเกษตรและภาคส่วนอื่นๆได้

การศึกษาในเดือนมีนาคมคาดการณ์ว่า สภาพอากาศสุดขั้ว อาจทำให้เยอรมันสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจสะสมสูงถึง 900 พันล้านยูโร (ราว 3.4 พันล้านบาท) ในช่วงกลางศตวรรษนี้

ที่ผ่านมา ด้านกระทรวงเกษตรที่นำโดยพรรคกรีนของเยอรมันได้ผลักดันให้มีการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมผลิตผลในระดับภูมิภาค การทำเกษตรอินทรีย์ และกำหนดให้มีการติดฉลากบนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าบรรดาสัตว์เหล่านี้ถูกเลี้ยงมาอย่างไร