posttoday

การใช้แบคทีเรียฆ่าเชื้อในน้ำ สู่แนวทางการเลิกใช้คลอรีนในน้ำประปา

25 กรกฎาคม 2566

การใช้คลอรีนฆ่าเชื้อในน้ำเป็นเรื่องปกติของน้ำประปาทั่วไป กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารคลอรีนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน ล่าสุดจึงเริ่มเกิดแนวคิดมองหาทางเลือกทดแทนสารคลอรีน แล้วเปลี่ยนมาอาศัยแบคทีเรียฆ่าเชื้อในน้ำแทน

เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านต่างคุ้นเคยการใช้งานน้ำประปาในชีวิตประจำวัน น้ำประปาถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตทั้งในการอุปโภคและบริโภค ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปที่จำเป็น โดยการนำน้ำดิบมาผ่านกระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เพื่อให้กลายเป็นน้ำสะอาดที่สามารถนำไปใช้งานได้

 

          แน่นอนเมื่อพูดถึงน้ำประปาสิ่งที่เราคิดถึงเป็นอันดับแรกคือ คลอรีน หนึ่งในสารเคมีหลักที่ถูกใช้ในการฆ่าเชื้อนานาชนิด ช่วยให้น้ำสะอาดสามารถนำไปใช้งานได้ทั่วไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารคลอรีนที่ใช้ทำน้ำสะอาดเองก็มีพิษภัย และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้เช่นกัน

 

          ปัจจุบันเริ่มมีการผลักดันแนวทางอื่นในการทำความสะอาดและบำบัดน้ำ เพื่อเป็นทางเลือกอื่นที่ใช้ทดแทนสารคลอรีน จนเริ่มแนวทางการใช้งานแบคทีเรียเพื่อนำไปฆ่าเชื้อในน้ำแล้วเช่นกัน

 

          แต่ก่อนอื่นคงต้องย้อนความกันเสียหน่อยว่า เหตุใดคลอรีนจึงเป็นสารที่เราจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง

 

การใช้แบคทีเรียฆ่าเชื้อในน้ำ สู่แนวทางการเลิกใช้คลอรีนในน้ำประปา

 

พิษภัยของคลอรีนที่ปะปนมากับสิ่งรอบตัว

 

          หลายท่านอาจเข้าใจว่าคลอรีนถูกใช้ในการผลิตน้ำประปาเป็นหลัก แต่อันที่จริงมีการใช้สารนี้มากกว่าที่คิด ด้วยการฆ่าเชื้อได้ทั้งไวรัส แบคทีเรีย ไปจนตะไคร่น้ำ คุณสมบัติฆ่าเชื้อทำความสะอาดเรียกได้ว่าครอบจักรวาล จึงถือเป็นสารทำความสะอาดและบำบัดน้ำที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

 

          ปัจจุบันคลอรีนเป็นส่วนผสมหลักที่พบได้ในน้ำยาทำความสะอาด, น้ำยาล้างห้องน้ำ, น้ำยาล้างจาน, น้ำยาฟอกขาว, น้ำยาซักผ้า ฯลฯ ใช้งานทั่วไปในการทำความสะอาดแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ถังถังน้ำ บ่อเลี้ยงปลา หรือสระว่ายน้ำ และยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ, สิ่งทอ, สี และโลหะบางชนิดอีกด้วย

 

           กระนั้นคลอรีนก็มีอันตรายในหลายด้าน ทั้งอันตรายจากการสูดดม ที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน แสบร้อนทั้งในโพรงจมูก ช่องปาก ไปจนลำคอ, แน่นหน้าอก, หายใจลำบาก, น้ำท่วมปอด, ทำลายระบบทางเดินหายใจจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

 

          อันตรายจากคลอรีนลำดับต่อมาเกิดจากการสัมผัสผ่านผิวหนัง ซึ่งจะเกิดอาการได้ง่ายโดยเฉพาะกับผู้ที่มีความไวหรือแพ้ต่อคลอรีน สามารถทำให้เกิดอาการระคายเคือง, แสบร้อน, อักเสบ, แผลพุพองบริเวณที่สัมผัส ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้เซลล์ผิวหนังในบริเวณนั้นตายได้

 

           เช่นเดียวกับการสัมผัสในบริเวณดวงตาที่เป็นอันตรายไม่แพ้กัน คลอรีนจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนในดวงตา, ตาแดง, ตากระตุก, กระพริบตาถี่ และมีน้ำตาไหล ในกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นสร้างความเสียหายให้แก่กระจกตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นจนตาบอด อีกทั้งหากรับประทานคลอรีนเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อทางเดินอาหารอีกด้วย

 

          นี่เองจึงเป็นสาเหตุในการมองหาตัวเลือกอื่นสำหรับการบำบัดน้ำ นำไปสู่การใช้แบคทีเรียในการฆ่าเชื้อในที่สุด

 

การใช้แบคทีเรียฆ่าเชื้อในน้ำ สู่แนวทางการเลิกใช้คลอรีนในน้ำประปา

 

สู่แนวทางบำบัดน้ำเสียที่อาจถูกนำมาใช้ทดแทนคลอรีน

 

          อันที่จริงตัวเลือกสำหรับการบำบัดน้ำเสียและฆ่าเชื้อโรคจากน้ำดิบให้สามารถนำไปอุปโภคบริโภคมีหสายแนวทาง ตั้งแต่การใช้ระบบกรองน้ำแบบยูวี การใช้ตัวกรองชีวภาพ หรือการใช้อัลตร้าฟิลเตอร์เพื่อทำความสะอาดน้ำ แต่ละแบบล้วนมีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสียไม่เลว กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน

 

          การใช้ระบบกรองผ่านรังสียูวีถือเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่การใช้รังสียูวีจากหลอดไฟเพื่อฆ่าเชื้อจำเป็นต้องใช้พลังงานมากเมื่อเทียบกับวิธีอื่น, การใช้ตัวกรองชีวภาพแม้ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานแต่กินพื้นที่ค่อนข้างมาก ส่วนการใช้อัลตร้าฟิลเตอร์แม้จะประหยัดพื้นที่และพลังงานแต่ก็มีต้นทุนสูงเป็นข้อเสียเช่นกัน

 

          นี่เองจึงเริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาระบบฆ่าเชื้อแบบใหม่ที่อาศัยประโยชน์จากแบคทีเรียด้วยกันแทน

 

          แนวคิดนี้เกิดจากนักวิจัยแห่ง Lund University ร่วมมือกับบริษัทผลิตน้ำดื่มรายย่อยในสวีเดน จากความพยายามยุติการใช้คลอรีนในการบำบัดน้ำเสีย จึงเริ่มมีการติดตั้งระบบการกรองระดับอนุภาคและอัลตร้าฟิลเตอร์เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำ โดยไม่มีการใช้สารเคมีคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อแบบเดิม

 

          หลังจากนั้นพวกเขาได้ทำการเก็บข้อมูลของระบบน้ำภายในเมือง เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อน้ำและอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ภายหลังจากยุติการใช้คลอรีนเป็นเวลา 3 เดือน เกิดความเปลี่ยนแปลงกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียภายในน้ำเป็นอย่างมาก

 

          เราทราบดีว่าแบคทีเรียเองก็มีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี ตั้งแต่เป็นอันตรายไปจนไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จากการทดสอบคุณภาพน้ำหลังยุติการใช้คลอรีนพบว่า แบคทีเรียหลายชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เริ่มมีการขยายตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำโดยตรง

 

           หนึ่งในแบคทีเรียที่มีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ Bdellovibrio จุดเด่นของแบคทีเรียชนิดนี้คือสามารถฆ่าแบคทีเรียชนิดอื่นและกินเป็นอาหาร สามารถขจัดได้แม้กระทั่งเชื้อที่เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ โดยที่ตัวมันเองไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์โดยสิ้นเชิง

 

          ถือเป็นการค้นพบน่าสนใจนำไปสู่การตั้งคำถามหลายประเด็นว่า เหตุใดจึงไม่มีการค้นพบแบคทีเรียชนิดนี้ภายในน้ำในระบบปัจจุบัน ซึ่งทางทีมวิจัยคาดว่าอาจเพราะการติดตั้งฟิลเตอร์ระดับอนุภาคชนิดใหม่ ประกอบกับการลดปริมาณคลอรีน ทำให้ตรวจพบเชื้อที่ไม่เคยเจอในน้ำประปาทั่วไปมาก่อน

 

          การค้นพบว่าเชื้อชนิดนี้สามารถเติบโตได้ภายในน้ำประปา ช่วยให้เราสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นอันตรายได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคลอรีนหรือสารเคมีอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย อีกทั้งจากการเก็บข้อมูลในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่มีการตรวจพบผลกระทบทางสุขภาพเกิดขึ้นจากแบคทีเรียชนิดนี้ จึงถือเป็นแนวทางบำบัดน้ำที่มีความปลอดภัยสูง

 

          นี่จึงอาจเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาระบบน้ำประปา ที่อาจช่วยให้เราสามารถใช้น้ำสะอาดได้โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าการผลิตน้ำดื่มลงอีกมาก

 

 

          อย่างไรก็ตามการใช้งานแบคทีเรียเพื่อฆ่าเชื้อยังคงอยู่ในขั้นการตรวจสอบและเก็บข้อมูล จริงอยู่ว่าแบคทีเรียชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ช่วยให้ผลิตน้ำดื่มสะอาดที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน กระนั้นก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบว่า แบคทีเรียจะมีผลกระทบอย่างไรหากเติบโตจากสภาพแวดล้อมภายในเมือง อีกทั้งหากมีการใช้งานและบริโภคในระยะยาว แบคทีเรียจะส่งผลกระทบทางสุขภาพหรือไม่

 

          ไม่แน่ว่าในอนาคตหากการศึกษาแบคทีเรียชนิดนี้แพร่หลายเพียงพอ เราอาจเปลี่ยนจากการเติมคลอรีนเป็นแบคทีเรียชนิดนี้ลงไปในน้ำเพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อแทนก็เป็นได้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://newatlas.com/science/predatory-bacteria-safe-drinking-water-without-chlorine/

 

          https://www.lunduniversity.lu.se/article/predatory-bacteria-provide-hope-chlorine-free-drinking-water

 

          https://www.pobpad.com/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B5