posttoday

ร้อนทะลุสถิติ คาดอุณหภูมิสูงขึ้นทั่วโลกเนื่องจากเอลนีโญ

05 กรกฎาคม 2566

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่ร้อนที่สุดที่เคยบันทึกไว้ทั่วโลก ตามข้อมูลจากศูนย์คาดการณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง 17.01 องศาเซลเซียส (62.62 ฟาเรนไฮต์) ซึ่งสูงกว่าสถิติในเดือนสิงหาคม 2559 ที่ 16.92 องศาเซลเซียส (62.46 ฟาเรนไฮต์) ขณะที่คลื่นความร้อนแผดเผาไปทั่วโลก

ทั้งนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) เปิดเผยว่า อุณหภูมิจะสูงขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก หลังจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

เอลนีโญ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิผิวน้ำที่ร้อนขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและตอนกลาง เชื่อมโยงกับสภาพอากาศที่รุนแรงตั้งแต่พายุหมุนเขตร้อน ฝนตกหนัก ไปจนถึงภัยแล้งรุนแรง

ปีที่ร้อนที่สุดในโลกเป็นประวัติการณ์คือปี 2559 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กระตุ้นให้อุณหภูมิสูงขึ้นแม้ในช่วงหลายปีที่ไม่มีปรากฏการณ์นี้ก็ตาม แต่สถิติดังกล่าวก็อาจถูกทำลายในไม่ช้า 

ตามข้อมูลของ WMO ซึ่งกล่าวในเดือนพฤษภาคมว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อย่างน้อยหนึ่งในห้าปีข้างหน้า และระยะเวลาห้าปีโดยรวมจะร้อนขึ้นที่สุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญและภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์

“การจะบอกคุณว่ามันจะเป็นปีนี้หรือปีหน้าเป็นเรื่องยาก” วิลฟราน มูฟูมา โอเกีย หัวหน้าฝ่ายบริการพยากรณ์อากาศระดับภูมิภาคของ WMO กล่าวกับผู้สื่อข่าวในเจนีวา

"สิ่งที่เรารู้คือตลอด 5 ปีข้างหน้า เรามีแนวโน้มที่จะมีปีที่ร้อนที่สุดปีหนึ่งเป็นประวัติการณ์"

ขณะที่องค์การอนามัยโลกกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่ากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่กระจายของโรคไวรัส เช่น ไข้เลือดออก ซิกา และชิคุนกุนยาที่เชื่อมโยงกับเอลนิโญ

“เราคาดการณ์ว่า โรคติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิ” มาเรีย นีรา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพของ WHO กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ในช่วงเอลนีโญ ลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรจะพัดช้าลง และน้ำอุ่นจะถูกผลักไปทางตะวันออก ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุกๆ 2-7 ปี และสามารถคงอยู่ได้ 9-12 เดือน ตามข้อมูลของ WMO

ในอดีต ปรากฏการณ์เอลนีโญได้ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บางส่วนของเอเชียใต้ อเมริกากลาง และตอนเหนือของอเมริกาใต้