posttoday

โลกร้อนเป็นเหตุ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ละลายไวเป็นประวัติการณ์

21 มิถุนายน 2566

รายงานฉบับใหม่พบว่า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยฮินดูกูช กำลังละลายเร็วขึ้นจากภาวะโลกร้อนและเสี่ยงสูญเสียมวลถึง 75% ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักและปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับประชากร 240 ล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ด้านล่างภูเขา

เทือกเขาหิมาลัยฮินดูกูช เป็นเทือกเขาที่ทอดยาว 3,500 กม. พาดผ่านอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน จีน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล และปากีสถาน และตามการประเมินของศูนย์พัฒนาเทือกเขาแบบบูรณาการระหว่างประเทศ (International Centre for Integrated Mountain Development: ICIMOD) ในกาฐมาณฑุ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคนี้ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2010 การละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเกิดขึ้นเร็วกว่าในช่วงทศวรรษก่อนหน้าถึง 65%

อย่างไรก็ตาม หากอุณหภูมิโลกยังเพิ่มขึ้นที่อุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส ธารน้ำแข็งทั่วภูมิภาคจะสูญเสียมวลธารน้ำแข็งไป 30% - 50% ภายในปี 2100 

ธารน้ำแข็งที่ละลายในอัตราที่เร็วขึ้นยังเป็นอันตรายต่อชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำ โดยแม่น้ำ 12 สายในภูมิภาคนี้ซึ่งรวมถึงแม่น้ำคงคา สินธุ และแม่น้ำโขง อาจได้รับผลกระทบและส่งผลต่อผู้คนกว่า 1.6 พันล้านคนที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำนี้ รวมถึงช่วงเวลาที่หิมะตกจะขาดความแน่นอนมากขึ้น

โดยปกติชุมชนบนภูเขาสูงหลายแห่งใช้ธารน้ำแข็งและหิมะที่ละลายเพื่อรดน้ำให้กับพืชผลทางการเกษตร แต่ที่ผ่านมามีจามรีต้องตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนพวกมันจะไปหาอาหารที่ทุ่งหญ้าที่สูงขึ้น ซึ่งหากหิมะตกเร็วเกินไปพื้นที่ทั้งหมดจะถูกปกคลุมด้วยหิมะ และไม่มีหญ้าให้พวกมันกิน”

Philippus Wester นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่า "แม้จะดูเหมือนว่าเราจะมีน้ำมากขึ้นเนื่องจากธารน้ำแข็งกำลังละลายอย่างรวดเร็ว แต่บ่อยครั้งที่เหตุการณ์แบบนี้มักแปรเปลี่ยนเป็นอุทกภัยมากกว่า"

ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังพยายามเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยทางการจีนกำลังดำเนินการเพื่อเสริมสร้างการจัดหาแหล่งน้ำของประเทศ ขณะที่ปากีสถานกำลังติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าก่อนเกิดน้ำท่วม