posttoday

สหภาพยุโรปเสียงแตก โวยแผนปฏิรูปพลังงานถ่านหิน

20 มิถุนายน 2566

ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปล้มเหลวในการตกลงเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ที่วางแผนไว้สำหรับตลาดพลังงานของ EU โดยมีความขัดแย้งด้านข้อเสนอที่จะขยายเงินอุดหนุนให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงผลักดันความช่วยเหลือจากภาครัฐให้กับโรงไฟฟ้าอื่นๆ

การประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานของสหภาพยุโรปที่จัดขึ้นในลักเซมเบิร์กเสร็จสิ้นลงโดยไร้ซึ่งการลงมติร่วมกันในด้านการปฏิรูปที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตพลังงานซ้ำรอยกับปีที่แล้ว เมื่อราคาก๊าซพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์และทำให้ผู้บริโภคต้องใช้จ่ายมากกว่าเดิมจากราคาพลังงานที่แพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเจรจาเกิดความซับซ้อนขึ้นอันเนื่องมาจากข้อเสนอที่ล่าช้าของสวีเดน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ที่เสนอให้ประเทศต่างๆสามารถขยายกลไกเงินอุดหนุนสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รักษากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันภูมิภาคไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ

เมื่อถามถึงแผนงานด้านเชื้อเพลิงถ่านหิน  Ebba Busch รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสวีเดนกล่าวว่า การรักษากำลังการผลิตและเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้าของโปแลนด์ซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครน จะช่วยสนับสนุนยูเครนในด้านพลังงานสำรองได้

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อเสนอ โปแลนด์ซึ่งใช้พลังงานจากถ่านหินประมาณ 70% สามารถขยายอายุโครงการเพื่อสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปได้จนถึงปี 2028

ขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรีย เบลเยียม เยอรมนี และลักเซมเบิร์ก ต่างคัดค้านต่อแนวทางดังกล่าว โดยระบุว่า จะทำลายเป้าหมายของสหภาพยุโรปในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ร่างดังกล่าว จะอนุญาตให้กลไกกำลังการผลิตที่มีอยู่ สามารถยกเว้นข้อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  เป็นการชั่วคราว เพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามามีส่วนร่วมได้ แม้นักวิทยาศาสตร์จะชี้ว่า ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ และการใช้ถ่านหินต้องลดลงในทศวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ