posttoday

กลุ่ม LGBTQ ฉลอง Pride Month แม้กระแสโจมตียังโหมกระพือ

12 มิถุนายน 2566

ชาว LGBTQ อเมริกัน หลายล้านคนกำลังร่วมเฉลิมฉลองงาน Pride ท่ามกลางกระแสโจมตีที่เพิ่มขึ้นทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์

นักวิจัยสองคนกล่าวกับรอยเตอร์ว่า การประท้วงและความพยายามทางกฎหมายในการจํากัดสิทธิ LGBTQ รวมถึงวาทศิลป์ทางการเมืองที่จุดประกายให้เกิดการหารือระดับชาติ เช่นการแต่ง drag และการดูแลสุขภาพของคนข้ามเพศ อาจเป็นแรงผลักดันซึ่งกันและกัน

Jay Ulfelder นักวิทยาศาสตร์ด้านการเมืองและข้อมูลแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ได้ติดตามการประท้วงต่อต้าน LGBTQ มาตั้งแต่ปี 2017 โดยข้อมูลแสดงให้เห็นตัวเลขความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในเหตุการณ์ปี 2022 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2017 แล้วตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 30 เท่า ขณะที่ปีที่แล้วการประท้วงของฝ่ายขวาเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า

ส่วนทางด้าน Jen Kuhn จาก Kaleidoscope องค์กรเยาวชนเพศทางเลือกในโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ กล่าวว่า เธอรู้สึกเหมือนไม่ใช่เรื่องจริงเมื่อเห็นกลุ่มนีโอนาซี (Neo-Nazism) ปรากฏตัวในงานระดมทุนช่วงเมษายนที่ผ่านมา พร้อมโบกเครื่องหมายสวัสดิกะและป้ายที่มีข้อความว่า “ต้องมีการนองเลือด” อย่างไรก็ตามด้วยแรงสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่นทำให้เธอมีความมุ่งมั่นในการเข้าร่วมเฉลิมฉลองงาน Pride มากกว่าเดิม

GLAAD องค์กรสนับสนุน LGBTQ ได้บันทึกเหตุการณ์ Pride ปี 2023  ไว้ว่างานดังกล่าวถูกข่มขู่ว่าจะมีการใช้ความรุนแรงในวันที่ 1 มิถุนายนถึง 8 ครั้ง ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนจัดงานอยู่บ่อยครั้ง โดยจำนวนกว่าครึ่งเกิดขึ้นในฟลอริดา ซึ่งผู้ทางด้านจัดงานได้เพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้นในปีนี้

เมื่อถามถึงระดับภัยคุกคามในช่วง Pride month โฆษก FBI กล่าวว่าขอให้ประชาชนมีความระมัดระวังและมีส่วนรวมในการรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัย

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวทางกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของ LGBTQ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย ACLU ได้ติดตามร่างกฎหมายที่ต่อต้าน LGBTQ ซึ่งมีจำนวนกว่า 491 ฉบับในสภานิติบัญญัติของรัฐปี 2023 ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ในศตวรรษที่ผ่านมา โดยเป็นความพยายามที่นำโดยพรรครีพับลิกันอย่างน้อยใน 15 รัฐตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ตัวอย่างเช่น ในฟลอริดา กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายโครงการริเริ่มปี 2022 ของผู้ว่าการรัฐ Ron DeSantis จากรีพับลิกัน ที่ไม่อนุญาตให้โรงเรียนส่งเสริมการเรียนการสอนหรือถกประเด็น LGBTQ ในห้องเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือเป็นที่รู้จักกันในร่างกฎหมาย "Don't Say Gay"

ขณะที่ในส่วนของฝั่งออนไลน์ คำว่า Grooming ถูกนำมาใช้โจมตี LGBTQ มากขึ้น ทั้ง child  groomers (พฤติกรรมเข้าหาเด็กโดยมีจุดประสงค์ทางเพศ) และ pedophiles (ผู้มีรสนิยมใคร่เด็ก)

รายงานจากศูนย์ต่อต้านความเกลียดชังทางดิจิทัล (CCDH) พบว่าเมื่อปีที่แล้ว มีการทวิตว่า “grooming” เพิ่มขึ้นกว่า 406% หลังจากร่างกฎหมาย "Don't Say Gay" ผ่านการรับรองในเดือนมีนาคม 2022

Joel Day ผู้อำนวยการงานวิจัยในโครงการของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันทั้งยังเป็นผู้ติดตามเหตุความรุนแรงทางการเมืองในระดับชาติ ได้เตือนว่าการพิสูจน์หาสาเหตุและความสัมพันธ์ของการโจมตีระหว่างบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ถือเป็นเรื่องที่ยาก แต่การโจมตีบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ก็มีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน เช่น หลังร่างกฎหมาย Don't Say Gay" ผ่านการรับรอง ก็ทำให้เกิดการพูดคุยบนโลกออนไลน์ทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งเมื่อประเด็นใดตกเป็นที่พูดถึงมากขึ้นก็ถือเป็นส่วนเสริมให้เกิดการร่างกฎหมายในอนาคต

Brigitte Bandit นักแสดง Drag ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส กล่าวว่าเธอไม่เคยเผชิญกับประสบการณ์ที่บนโลกออนไลน์มีคนตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับนักแสดง Drag มากขนาดนี้ โดยบางส่วนโจมตีว่าเธอเป็นอันตรายต่อเด็กๆ

ทั้งนี้ เธอให้ความเห็นว่างาน Pride ในปัจจุบันเหมือนเรากำลังย้อนไปสู่จุดเริ่มต้น จากการรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ ในนิวยอร์ก หลังตำรวจบุกเข้าโจมตีบาร์เกย์ในเดือนมิถุนายน 1969