posttoday

นักวิทยาศาสตร์พบจระเข้มีลูกโดยไม่อาศัยเพศที่สวนสัตว์คอสตาริกา

10 มิถุนายน 2566

นักวิทยาศาสตร์ได้บันทึกตัวอย่างแรกของการมีลูกโดยไม่อาศัยเพศของจระเข้ ซึ่งอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลา 16 ปีที่สวนสัตว์คอสตาริกา ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบ

จระเข้อเมริกันตัวเมียตัวนี้ วางไข่ 14 ฟองเมื่อปี 2018 ภายในคอกของมัน ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานที่เลี้ยงไว้ อย่างไรก็ตาม ความจริงที่น่าฉงนยิ่งกว่านั้นเกิดขึ้นหลังจากฟักไข่ได้ 3 เดือน เมื่อพบว่าไข่ใบหนึ่งมีลูกจระเข้ตายอยู่ในไข่ โดยที่มีรูปร่างสมบูรณ์

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biology Letters นักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบองค์ประกอบทางพันธุกรรมของตัวอ่อนของจระเข้ตัวนี้ พวกเขาพบลำดับดีเอ็นเอที่แสดงว่าเป็นผลจาก facultative parthenogenesis (FP) หรือการสืบพันธุ์โดยไม่มีส่วนร่วมทางพันธุกรรมของเพศผู้

ปรากฏการณ์ FP ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกสั้นๆ ว่า "การกำเนิดแบบบริสุทธิ์ หรือ virgin birth" ยังได้รับการบันทึกไว้ในปลา นก กิ้งก่า และงูชนิดอื่นๆ ด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า นี่เป็นตัวอย่างแรกที่พบในจระเข้

ในปรากฏการณ์ FP เซลล์ไข่ของตัวเมียสามารถพัฒนาเป็นทารกได้โดยไม่ต้องมีการปฏิสนธิโดยเซลล์สเปิร์มของตัวผู้

ในการสร้างเซลล์ไข่ เซลล์ตั้งต้นจะแบ่งออกเป็นสี่เซลล์: เซลล์หนึ่งกลายเป็นเซลล์ไข่และยังคงรักษาโครงสร้างเซลล์ที่สำคัญและไซโตพลาสซึมที่มีลักษณะเป็นเจล ในขณะที่เซลล์อื่นๆ มีสารพันธุกรรมพิเศษ

จากนั้นเซลล์ใดเซลล์หนึ่งจะทำหน้าที่เป็นเซลล์สเปิร์มและหลอมรวมกับไข่เพื่อให้กลายเป็น "ปฏิสนธิ"

จระเข้อเมริกันถือว่ามีเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ ซึ่งการศึกษาระบุว่า ตามสมมติฐานข้อหนึ่ง FP อาจพบได้บ่อยในบรรดาสปีชีส์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า "การกำเนิดบริสุทธิ์" ของคอสตาริกาอาจนำไปสู่ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของจระเข้ที่เดินบนโลกในยุคไทรแอสซิกเมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อน

"การค้นพบนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่น่าดึงดูดใจเกี่ยวกับความสามารถในการสืบพันธุ์ที่เป็นไปได้ของญาติของจระเข้และนกที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยเฉพาะสมาชิกของ Pterosauria และ Dinosauria"