posttoday

เตรียมร่างสนธิสัญญาควบคุมพลาสติกในปีนี้

04 มิถุนายน 2566

กว่าหนึ่งสัปดาห์แห่งการหารือที่ 170 ประเทศมีความเห็นไม่ลงรอยต่อร่างสนธิสัญญาควบคุมมลภาวะจากพลาสติกระดับโลก แต่ในที่สุดก็ได้มติร่วมที่จะจัดทำร่างฉบับแรกภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ตัวแทนของประเทศต่างๆ องค์กรNGO และตัวแทนภาคอุตสาหกรรมได้รวมตัวกันที่กรุงปารีสในสัปดาห์นี้เพื่อเข้าร่วมการเจรจารอบที่สองของสหประชาชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย;ว่าด้วยการควบคุมมลภาวะจากขยะพลาสติก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าภายในปี 2060 โดยครึ่งหนึ่งจะมีปลายทางที่หลุมฝังกลบ และถูกนำไปรีไซเคิลน้อยกว่าหนึ่งในห้า ตามรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาปี 2022

แม้ว่าครึ่งแรกของการเจรจาห้าวันจะใช้เวลาถกเถียงกันไปกับเรื่องขั้นตอนการดำเนินงาน แต่คณะผู้แทนได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการควบคุมต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อหยุดมลพิษจากพลาสติก รวมถึงว่าประเทศต่างๆ ควรพัฒนาแผนระดับชาติหรือกําหนดเป้าหมายระดับโลกเพื่อจัดการกับปัญหาหรือไม่

เมื่อปิดการประชุมในวันศุกร์ ประเทศต่างๆ ตกลงที่จะทำร่าง  "zero draft" ซึ่งจะกลายเป็นสนธิสัญญาจัดการพลาสติกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และเพื่อทํางานระหว่างช่วงการเจรจาในประเด็นสำคัญ เช่น ขอบเขตและหลักการของสนธิสัญญาในอนาคต ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และจีนเป็นผู้นำการคัดค้านสนธิสัญญาดังกล่าวที่ได้รับการรับรองโดยคะแนนเสียงข้างมากมากกว่าฉันทามติ

อย่างไรก็ตาม คณะผู้เจรจายังเดินหน้าเนื้อหาการประชุม โดยเสนอจุดยืนเพื่อจำกัดการผลิตพลาสติก ลดพลาสติกที่ "เป็นปัญหา" และถกว่าสนธิสัญญาควรกำหนดเป้าหมายระดับประเทศหรืออนุญาตให้ประเทศต่างๆ กำหนดเป้าหมาย แผนของตัวเอง

"เราจะเสียเวลาอีกไม่ได้แล้ว ตอนนี้เรามีเวลาน้อยลงทุกวัน" ตัวแทนของซามัวกล่าวในนามของประเทศเกาะเล็ก ๆ พร้อมเสริมว่าประเทศที่เป็นเกาะต้องเผชิญกับอันตรายจากการจัดการขยะที่ไม่ดีและการผลิตพลาสติกมากเกินไป

ขณะเดียวกัน ประเทศที่เข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) ซึ่งรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ชิลี และประเทศหมู่เกาะ ต้องการเป้าหมายระดับโลกในการลดการผลิตพลาสติกและมลพิษจากพลาสติก รวมถึงการจำกัดสารเคมีที่เป็นอันตรายบางชนิด

ส่วนประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มในสนับสนุนแผนการดำเนินงานระดับชาติมากกว่าการกำหนดเป้าหมายระดับโลกในการแก้ไขปัญหานี้

ทั้งนี้ Tadesse Amera ประธานร่วมของ International Pollutants Elimination Network กล่าวว่าด้วยความกังวลของสาธารณชนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับวิกฤตมลพิษจากพลาสติก ทำให้การเจรจาจำเป็นต้องส่งผลให้เกิดข้อตกลงที่รัดกุมมากที่สุด