posttoday

โวยแผนลดพลาสติก เอื้อประโยชน์อุตสาหกรรมพลาสติก-ปิโตรเคมี

30 พฤษภาคม 2566

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโวย ‘สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastics Treaty)’ ที่เน้นจัดการขยะพลาสติกด้วยการรีไซเคิล แทนที่จะควบคุมต้นทางการผลิต ชี้เอื้อกลุ่มทุนอุตสาหกรรมพลาสติก-ปิโตรเคมี

การประชุมเพื่อเจรจาในข้อตกลง  “Global Plastics Treaty” ซึ่งเป็นสนธิสัญญาพลาสติกโลก ทำให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างประเทศที่ต้องการจำกัดการผลิตพลาสติกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สนับสนุนให้แก้ปัญหาขยะพลาสติกด้วยการรีไซเคิล

ก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ ณ กรุงปารีส หลายประเทศได้กล่าวว่าเป้าหมายของสนธิสัญญา ควรอยู่ในรูปแบบหมุนเวียน (circularity) หรือในรูปแบบที่สามารถเก็บพลาสติกที่ผลิตแล้วให้อยู่ในวงจรและสามารถหมุนเวียนการใช้งานให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม ได้เผยตัวอย่างแผนเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกลงให้ได้ 80% ภายในปี 2040 โดยในรายงานยังได้สรุปประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การใช้ซ้ำ (reuse) การรีไซเคิล (recycle) และการปรับทิศทางบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปสู่วัสดุทางเลือก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางกลุ่มได้ออกมาวิจารณ์แผนนี้ที่มุ่งเน้นไปที่การจัดการของเสียมากกว่าจัดการที่ต้นทางการผลิต ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการอะลุ่มอล่วยให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมีทั่วโลก

ขณะที่ทางด้าน Therese Karlsson ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของเครือข่ายกำจัดสารมลพิษนานาชาติ (International Pollutants Elimination Network) ให้ความเห็นว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตพลาสติกที่ได้ผลจริง จำเป็นต้องมีการควบคุมด้านสารเคมีในพลาสติกและต้องลดจำนวนการผลิตพลาสติกทั่วโลกลงให้ได้

ทั้งนี้ Inger Andersen ผู้อำนวยการบริหารของ UNEP ระบุว่า การวิจารณ์เกี่ยวกับการรีไซเคิลในรายงานที่เผยแพร่ออกมา ผู้วิจารณ์ได้มองข้ามแผนปรับทิศทางบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปสู่วัสดุทางเลือก ซึ่งในขณะนี้เรากำลังมุ่งเน้นไปที่การรออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่จะใช้พลาสติกน้อยลง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง