posttoday

ตะวันตกไม่เหลือทางเลือกอื่นให้เรา นอกจากติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์

29 พฤษภาคม 2566

เจ้าหน้าที่อาวุโสของเบลารุสกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ระบุ ประเทศตะวันตกปล่อยให้เบลารุสไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของรัสเซีย และควรระมัดระวังไม่ให้ "ล้ำเส้นแดง" ในประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์

อเล็กซานเดอร์ โวลโฟวิช เลขาธิการสภาความมั่นคงเบลารุส กล่าวว่า เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่อาวุธเหล่านี้ถูกถอนออกไปหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534 เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ให้การรับประกันด้านความปลอดภัยและไม่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรใดๆต่อเบลารุสในขณะนั้น

ตะวันตกไม่เหลือทางเลือกอื่นให้เรา นอกจากติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์

“ทุกวันนี้ ทุกอย่างพังทลาย คำสัญญาทั้งหมดหายไปตลอดกาล” สำนักข่าวเบลตาอ้างคำกล่าวอ้างของโวลโฟวิชขณะให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของรัฐ

เบลารุสซึ่งนำโดยประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ตั้งแต่ปี 2537 เป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งที่สุดของรัสเซียในบรรดาอดีตสหภาพโซเวียต และอนุญาตให้ใช้ดินแดนของตนเพื่อเริ่มการรุกรานยูเครนของเครมลินในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

รัสเซียรุกคืบเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยการตัดสินใจที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในดินแดนเบลารุสโดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์เฉพาะในสนามรบ

รัสเซียกล่าวว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ในยูเครนมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้สิ่งที่กล่าวว่าเป็นแรงผลักดันจาก "กลุ่มตะวันตก" เพื่อทำสงครามตัวแทนและสร้างความพ่ายแพ้ให้กับมอสโก

“การติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีบนดินแดนเบลารุสจึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการป้องปรามเชิงกลยุทธ์ หากยังคงมีเหตุผลใดๆ อยู่ในหัวของนักการเมืองตะวันตก แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่ข้ามเส้นแดงนี้” โวลโฟวิชกล่าว

ตะวันตกไม่เหลือทางเลือกอื่นให้เรา นอกจากติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์

เขากล่าวว่าทุกวิถีทางที่จะใช้ "แม้แต่อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีก็จะนำไปสู่ผลที่ตามมาอย่างไม่อาจย้อนกลับได้"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลูกาเชนโก กล่าวว่าอาวุธดังกล่าวอยู่ในระหว่างการติดตั้งแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะพร้อมเมื่อใด

สหรัฐฯ ประณามการนำอาวุธนิวเคลียร์ไปใช้ในเบลารุส และกล่าวว่าจุดยืนของตนต่อการใช้อาวุธดังกล่าวยังไม่เปลี่ยนแปลง

เบลารุส ถูกคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกมานานก่อนการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามสิทธิมนุษยชนของ ลูกาเชนโก  เข่นการปราบปรามการประท้วงเรียกร้องให้เลือกตั้งใหม่ในปี 2563

หลังจากได้รับเอกราชจากการปกครองของสหภาพโซเวียต เบลารุส ยูเครน และคาซัคสถานตกลงที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ของพวกตนและส่งกลับไปยังรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับนานาชาติในการยับยั้งการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์