posttoday

ธนาคารโลกชี้ ค่าใช้จ่ายเพื่อควบคุมคาร์บอนของโลกสูงขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ

24 พฤษภาคม 2566

รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ปีที่แล้วประเทศต่าง ๆ สามารถรวมทุนได้กว่า 95,000 ล้านดอลลาร์ จากการเรียกเก็บค่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทต่างๆ แต่ทุนที่ได้ยังน้อยเกินกว่าจะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศตามข้อตกลงปารีส

Jennifer Sara ผู้อำนวยการระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของธนาคารโลกกล่าวว่า  “แม้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญกับนโยบายการเรียกเก็บค่าคาร์บอนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับที่จำเป็นจริงๆ เราต้องทำให้ราคามีความครอบคลุม” 

หลายประเทศกำลังเรียกเก็บเงินสำหรับการปล่อยคาร์บอนเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศในรูปแบบของภาษีหรือภายใต้การซื้อขายการปล่อยก๊าซ (ETS) หรือระบบ cap-and-trade

ปัจจุบันมีการใช้มาตรการราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Instruments) กว่า 73 มาตรการในประเทศทั่วโลก เทียบกับในปี 2022 ที่มีอยู่ 68 มาตรการ ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 23%

ในปี 2017 รายงานของคณะกรรมการระดับสูงด้านราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระบุว่า ราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ควรอยู่ในช่วง 50-100 ดอลลาร์ต่อตันภายในปี 2030 เพื่อให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของขีดจำกัดที่ตกลงกันไว้ ในข้อตกลงปารีส 2015

ทั้งนี้ รายงานของธนาคารโลกระบุว่า เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว ราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงนี้ควรอยู่ที่ 61-122 ดอลลาร์ต่อตัน