posttoday

UAE โต้ โลกยังไม่พร้อมเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

11 พฤษภาคม 2566

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระบุว่า ในการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ ประเทศต่าง ๆ ควรตกลงกันเพื่อลดการปล่อยมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิง ไม่ใช่จากการผลิตน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน

ความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนของแต่ละประเทศที่ไม่ลงรอยกันก่อนการประชุม COP28  จะเริ่มขึ้น ซึ่งบางชาติจากฝั่งตะวันตกที่ร่ำรวยและประเทศหมู่เกาะที่ประสบปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ผลักดันให้เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่ประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติสนับสนุนให้มีการขุดเจาะน้ำมันต่อไป

Mariam Almheiri รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวว่า การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะส่งผลเสียต่อประเทศที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงเหล่านี้เพื่อหารายได้ หรือเป็นประเทศที่ไม่สามารถนำพลังงานหมุนเวียนไม่ทดแทนได้ง่ายๆ

ตัวเธอเองสนับสนุนการเลิกใช้เชื้อเพลิงทางฟอสซิลโดยใช้เทคโนโลยีการดักจับและจัดเก็บไว้พร้อมเพิ่มพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยกล่าวว่ากลยุทธ์นี้ช่วยให้ระเทศต่างๆ สามารถต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ได้ขณะที่ยังสามารถผลิตน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินต่อไปได้

“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการเปลี่ยนผ่านนี้จำเป็นต้องดำเนินไปด้วยความยุติธรรมและสามารถนำไปใช้ในเชิงปฏิบัติได้จริง เพราะไม่ใช่ทุกประเทศที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากร” เธอกล่าวเสริม

ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศในอียิปต์เมื่อปีที่แล้ว กว่า 80 ประเทศรวมถึงสหภาพยุโรปและประเทศเกาะเล็กๆ ตกลงที่จะเรียกร้องให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด ขณะที่ประเทศอย่างซาอุดีอาระเบียและจีนเรียกร้องให้อียิปต์อย่ารวมข้อสรุปนี้ไว้ในผลการประชุม

แม้จะยังไม่ได้กำหนดวันที่อย่างชัดเจน แต่การประชุมกลุ่มประเทศ G7 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ ประเทศสมาชิกต่างลงมติให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยุติลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Mariam Almheiri ยังยกตัวอย่างการพึ่งพาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานด้านน้ำมันและก๊าซของสมาชิก OPEC ในประเทศ UAE นอกจากนี้ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังมีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี 2050

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านอาหารยังเป็นปัญหาหลักที่ต้องนำมาพูดคุยในการประชุม COP 28 เช่นกัน