posttoday

หุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย ChatGPT ถูกนำมาใช้ในห้องเรียนของไซปรัส

05 เมษายน 2566

นักเรียนและครูผู้สอนในไซปรัสได้พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ChatGPT เพื่อควบคุมและปรับปรุงประสบการณ์การสอนในห้องเรียนให้ดียิ่งขึ้น

หุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยโรงเรียน 3 แห่งในไซปรัสชื่อ AInstein มีขนาดพอกับผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ และมีลักษณะคล้ายกับรูปปั้นมิชลิน โดยหุ่นยนต์ตัวดังกล่าวขับเคลื่อนด้วย ChatGPT ซึ่งเป็นแชทบอทที่พัฒนาโดยบริษัท OpenAI ของสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft Corp ซึ่งหน้าจอของหุ่นถูกสร้างขึ้นให้มีใบหน้าที่คล้ายกับการแสดงอากัปกิริยาของมนุษย์ เช่นการกะพริบตาหรือขมวดคิ้ว

หุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย ChatGPT ถูกนำมาใช้ในห้องเรียนของไซปรัส

หุ่นตัวดังกล่าวจะพูดในสำเนียงอเมริกาเหนือ และสามารถเล่าเรื่องตลกได้ นอกจากนี้ผู้พัฒนายังพยายามสอนให้มันพูดภาษากรีกและให้คำแนะนำว่าจะสามารถสอนทฤษฎีสัมพัทธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ในชั้นเรียนได้อย่างไร

Richard Erkhov นักเรียนวัย 16 ปี ทั้งยังเป็นหัวหน้าโปรแกรมเมอร์ในการพัฒนาของสมอง AI กล่าวว่าปัญญาประดิษฐ์พร้อมที่จะถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมันอาจเป็นตัวช่วยในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ เช่น การศึกษาและการแพทย์ ขณะที่ครูผู้สอนให้ความเห็นว่า จุดประสงค์หลักของหุ่น AInstein  คือการมีส่วนร่วมเข้ากับการสอนในห้องเรียน

หุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย ChatGPT ถูกนำมาใช้ในห้องเรียนของไซปรัส

Elpidoforos Anastasiou ครูสอนพิเศษและหัวหน้าโครงการกล่าวว่า "การนำหุ่นตัวดังกล่าวเข้ามาใช้ในห้องเรียน เป็นการเรียนการสอนเชิงโต้ตอบ นักเรียนสามารถถามคำถาม ขณะที่หุ่นยนต์ก็สามารถสามารถตอบกลับได้ ทั้งยังสามารถอำนวยความสะดวกให้ครูสามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หุ่น AInstein สามารถอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ประสบการณ์การใช้งานของนักเรียนและผู้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ชี้ว่า การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้มีความน่ากลัวหรือน่ากังวลแต่อย่างใด เหมือนที่สหภาพยุโรปกังวลและกำลังเล็งพิจารณาออกกฎหมายควบคุมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 

นอกจากนี้ หุ่น AInstein ยังโต้ตอบต่อประเด็นดังกล่าวว่า "มนุษย์คือผู้สร้างและควบคุม AI และผลพวงขึ้นอยู่กับเราที่จะรับประกันว่าการพัฒนาและการนำไปใช้นั้นจะช่วยพัฒนามนุษยชาติให้ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงไม่ควรกลัว AI แต่ควรเข้าหาด้วยความเอาใจใส่และคำนึงถึงความรับผิดชอบ"