นักวิเคราะห์มองเวียดนามไม่เปลี่ยนหลังตั้งประธานาธิบดีคนใหม่
เมื่อวันพฤหัสบดี (25) รัฐสภาเวียดนามได้เลือก หวอ วัน เทือง เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ โดยเป็นการสับเปลี่ยนผู้นำระดับสูงของประเทศ ท่ามกลางการรณรงค์ต่อต้านการรับสินบนอย่างกว้างขวาง นักวิเคราะห์มองว่าเวียดนามจะคงนโยบายเศรษฐกิจและต่างประเทศต่อเนื่อง
ในการประชุมสมัยวิสามัญ สมาชิกสภานิติบัญญัติมีมติรับรอง หวอ วัน เทือง วัย 52 ปี เป็นประธานาธิบดี หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์เสนอชื่อเขาเมื่อวันพุธ ซึ่งแม้ตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีบทบาทสำคัญในเชิงพิธีการ แต่ก็เป็นหนึ่งในสี่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของประเทศเวียดนาม
การลงมติครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังการลาออกอย่างกะทันหันในเดือนมกราคมของ เหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกล่าวโทษว่ามีการละเมิดและการกระทำผิด โดยเจ้าหน้าที่ภายใต้การควบคุมของเขา และถูกมองว่าเป็นการยกระดับครั้งใหญ่ของการปราบปรามการคอร์รัปชัน .
ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกต่อรัฐสภาในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ หวอ วัน เทือง กล่าวว่าเขาจะ "แน่วแน่" ดำเนินการต่อสู้กับการทุจริตต่อไป โดยกล่าวในถ้อยแถลงที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ของทางการเวียดนามว่า
“ผมจะจงรักภักดีต่อปิตุภูมิ ประชาชน และรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพรรค รัฐ และประชาชน”
หวอ วัน เทือง เป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดใน Politburo ของพรรค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของประเทศ และถือเป็นผู้คร่ำหวอดในพรรค โดยเริ่มอาชีพทางการเมืองในมหาวิทยาลัยในองค์กรเยาวชนคอมมิวนิสต์
เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางว่า เขามีความใกล้ชิดกับเลขาธิการพรรค เหงียน ฟู้ จ่อง ซึ่งเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเวียดนาม และเป็นผู้นำในการต่อสู้กับการทุจริตของพรรค
นักการทูตและนักธุรกิจหลายรายแสดงความกังวลเกี่ยวกับการรณรงค์ต่อต้านการรับสินบน เนื่องจากทำให้การทำธุรกรรมตามปกติในเวียดนามอาจจะชะงัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะตกเป็นเป้า หรือถูกมองว่าเข้าไปพัวพันกับการปราบปรามการทุจริต
นักการทูตในกรุงฮานอยกล่าวว่า การแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ เป็นก้าวสำคัญของเลขาธิการพรรค เหงียน ฟู้ จ่อง ท่ามกลางการแย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอดอำนาจแทนเขา เนื่องจากผู้นำวัย 78 ปีอาจก้าวลงจากตำแหน่งก่อนสิ้นสุดวาระที่สามในปี 2569
โดยปกติแล้วเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะถูกเลือกจากผู้นำระดับสูงคนใดคนหนึ่ง
นักวิเคราะห์และนักลงทุนมองว่าการเลือกตั้งบ่งบอกถึงความต่อเนื่องในนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของประเทศ
Le Hong Hiep ผู้เชี่ยวชาญเวียดนามจาก ISEAS–Yusof Ishak Institute ของสิงคโปร์กล่าว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในนโยบายต่างประเทศของเวียดนามหลังการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติในเวียดนามรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า การตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ยุติความไม่แน่นอนที่เกิดจากการปลดอดีตประธานาธิบดีอย่างกะทันหัน
"นั่นหมายถึงเสถียรภาพและการคาดการณ์ได้กลับคืนมา"
เวียดนามเป็นผู้รับการลงทุนรายใหญ่จากต่างชาติ โดยผู้นำทางธุรกิจมักอ้างถึงเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเหตุผลหลักในการลงทุน