posttoday

FDA ยืนยันเครื่องดื่มจากพืชสามารถเรียกว่านมได้

25 กุมภาพันธ์ 2566

ตามที่ร่างของรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้เผยแพร่ซึ่งระบุว่า ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ และเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ให้คำนิยามตัวเองว่าเป็น ‘ผลิตภัณฑ์นม’ สามารถใช้คำจำกัดความดังกล่าวต่อไปได้

เป็นเวลาหลายปีที่บรรดาผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากนมเรียกร้องให้องค์การอาหารและยา (FDA) จำกัดเครื่องดื่มที่ได้มาจากพืชและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งพวกเขาอ้างว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สวมรอยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ และทำให้ความหมายที่แท้จริงของ "นม" คลุมเครือ

ซึ่งล่าสุด เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ชี้แจงว่า เครื่องดื่มจากพืชไม่ได้ออกตัวว่าเป็นผลิตภัณฑ์นมที่ได้มาจากสัตว์ตั้งแต่แรก และผู้บริโภคในสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดความสับสนกับความแตกต่างดังกล่าวแต่อย่างใด

ภายใต้ร่างกฎหมายดังกล่าว แนะนำว่าให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ของตนอย่างชัดเจนตามแหล่งที่มาของอาหาร เช่น "นมถั่วเหลือง" หรือ "นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์" นอกจากนี้ยังระบุว่าให้แปะฉลากโภชนาการเสริมตามความสมัครใจ หากผลิตภัณฑ์มีระดับสารอาหารที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่านมจากสัตว์ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม หรือวิตามินดี

ทั้งนี้ นมถั่วเหลืองที่เสริมสารอาหาร ถือเป็นนมจากพืชชนิดเดียวที่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์นม จากระดับสารอาหารที่สูง โดยแนวทางที่กำหนดขึ้นใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลทางโภชนาการที่ชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ผู้ผลิตนมแห่งชาติ (The National Milk Producers Federation) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าอุตสาหกรรม ต่างชื่นชมในแนวทางใหม่ที่ให้ระบุข้อมูลโภชนาการเพิ่มเติมบนฉลากเครื่องดื่ม แต่ยังไม่ยอมรับข้อสรุปของ FDA ที่ระบุว่าเครื่องดื่มจากพืชสามารถเรียกว่านมได้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดเครื่องดื่มจากพืชเติบโตและเพิ่มขึ้นมากจนเครื่องดื่มจากพืชมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว กัญชา ซึ่งแม้ว่าเครื่องดื่มเหล่านี้จะได้มาจากพืช แต่ก็มักจะติดฉลากและอธิบายผลิตภัณฑ์ว่าเป็น "นม"

ตามรายงานของ NielsenIQ ในสหรัฐอเมริกานมอัลมอนด์ถือเป็นนมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ขณะที่นมข้าวโอ๊ตมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดแต่อย่างไรก็ตามยอดขายของนมจากพืชยังไม่สามารถโค่นยอดขายของนมจากสัตว์ได้

ทั้งนี้ หน่วยงานจะยอมรับความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างดังกล่าวจนถึงวันที่ 23 เมษายน