posttoday

ส่องยุทธศาสตร์มังกร 9 ท่าเรือล้อมโลก “String of Pearls”

12 กุมภาพันธ์ 2566

The String of Pearls หรือ “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” เป็นสมมติฐานทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เสนอโดยกลุ่มวิจัยทางการเมืองของสหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2547 หมายถึงเครือข่ายของโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารและทางการค้าของจีน หมายรวมไปถึงความสัมพันธ์ตามเส้นทางคมนาคมทางทะเล ซึ่งขยายออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังพอร์ทซูดานในทวีปแอฟริกา

มีการบันทึกว่า ในปี 2004 บริษัทที่ปรึกษา Booz Allen Hamilton ในสหรัฐเรียกการวางยุทธศาสตร์เครือข่ายทางการทหารและการเศรษฐกิจของจีนในมหาสมุทรอินเดียว่า "สร้อยไข่มุก" เพื่อจะอธิบายว่า จีนใช้ "ฐานที่มั่น" เหล่านี้ในการโอบล้อมและเขมือบมหาสมุทรอินเดีย โดยตั้งฐานในประเทศที่เป็นคู่กรณีกับอินเดีย หรือประเทศที่ไม่ค่อยจะลงรอยกัน

 

“เส้นรอยต่อสร้อยไข่มุก” หรือ String of Pearls จึงเป็นศัพท์เรียกเส้นทางเดินทางทะเล จากจีนแผ่นดินใหญ่ยาวเหยียดไปไกลถึงพอร์ทซูดานในแอฟริกา


 

การลงทุนจีนในท่าเรือทั่วโลก

สื่อเศรษฐกิจบางแห่งระบุว่า จีนมีท่าเรือคอนเทนเนอร์ 34 แห่งในประเทศ และ 25 แห่งในจำนวนนี้ถือเป็นท่าเรือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญ ส่วนในระดับสากลมีการลงทุนหรือการจัดการในท่าเรืออื่นๆ อีกประมาณกว่า 100 แห่ง หรืออย่างน้อยหนึ่งแห่งในทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกา

 

ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนทั่วโลกต้องรวบรวมจากหลายแหล่ง เนื่องจากไม่มีแหล่งหรือแพลตฟอร์มเดียวที่เผยแพร่โดยทางการจีน

 

ส่องยุทธศาสตร์มังกร 9 ท่าเรือล้อมโลก “String of Pearls”


ตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์นั้นสำคัญ

วันนี้โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับดิสรับในทุกๆ ด้าน ทุกวงการอย่างรวดเร็ว โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง รวมไปถึงปมขัดแย้งในขั้วการเมืองโลก ตั้งแต่สงครามการค้า (TradeWar) มาจนถึงสงครามเทคโนโลยี (TechWar) ระหว่างจีน สหรัฐ และตะวันตก มาจนถึงสงครามรัสเซีย - ยูเครน

 

ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกทำให้เราต้องจับจ้องทุกฝีก้าวของมหาอำนาจโลก ว่าจะขยับไปทางไหนแน่นอนหนึ่งในนั้นคือ จีน ที่หลายคนมองว่าจะผงาดขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจเหนือสหรัฐอเมริกาและตะวันตก จึงไม่แปลกหากหน่วยงานความมั่นคงหรือสื่อจากสองมหาอำนาจเก่านี้จะจับตามองจีนอย่างไม่กระพริบ

 

และล่าสุดกรณีที่บอลลูนจีนลอยโผล่ที่สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลความผิดพลาดด้านการควบคุม ก็ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลที่ไม่มีใครเชื่อ และไม่ว่าการเคลื่อนไหวด้วยเจตนาเหล่านี้จะพยายามเงียบเชียบปานใดก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้ต่างคือเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวโลกรู้ว่า สงครามที่ได้อุบัติขึ้นแล้วนั้นกำลังดำเนินต่อไปในทุกๆ รูปแบบ และปัญหาระหว่างสหรัฐและจีนนั้นไม่น่าจะจบลงง่ายๆ

 

มีการวิเคราะห์ว่า “ภูมิรัฐศาสตร์”กับการค้าและการลงทุนกำลังจะเป็นเรื่องเดียวกัน หากสถานการณ์สหรัฐและจีนยังตึงเครียดอยู่อย่างนี้ แล้วประเทศเล็กๆอย่างไทยจะเป็นอย่างไร

 

ส่องยุทธศาสตร์มังกร 9 ท่าเรือล้อมโลก “String of Pearls”

 

เรามาลองสำรวจยุทธศาสตร์กันจากการวิเคราะห์อันมากมายไม่รู้จบ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า ทางการจีนลงทุนไปกับท่าเรือทั่วโลกทั้งหมดด้วยปริมาณและเม็ดเงินมากมายแค่ไหน ดังนั้นเราจึงไม่ทราบความครอบคลุมทั้งหมด แต่โลกรู้ว่า การลงทุนเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทางการค้าและในเชิงยุทธศาสตร์มาก จนอาจกล่าวได้ว่าประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์มีความสำคัญเท่าเทียมกัน

 

9 ท่าเรือล้อมโลก

ท่าเรือที่อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์หรืออาจเป็นอุปสรรคทางการค้าและเป็นการลงทุนของจีน มีดังนี้ในภาพกว้างๆ :

 

พิราอุส (Piraeus) ของกรีซ ช่องแคบยิบรอลตาร์ ช่องแคบฮอร์มุซ คลองสุเอซ ช่องแคบบาเบล-มันดับ(ทะเลแดง เยเมน) ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดาร์ (อินโดนีเซีย) คลองปานามา กวาดาร์ (ปากีสถาน) ช่องแคบมะละกา (อินโดนีเซีย สิงคโปร์) ฮัมบันโตต้า (ศรีลังกา) จิบูตี (แหลมแอฟริกา)

 

ในขณะที่มีการลงทุนนอกชายฝั่งเพียงแห่งเดียวที่มีองค์ประกอบทางทหารคือที่ "จิบูตี" ถึงกระนั้น ความครอบคลุมทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับนี้ก็ไม่ได้ทำให้คู่แข่งสบายใจ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง (ที่ไม่ใช่ชาวจีน) ระบุว่า มีความกังวลเนื่องจากท่าเรือสามารถใช้รวบรวมข่าวกรองทางเรือได้ “คุณสามารถติดตามตำแหน่งของเรือและการสื่อสารทั้งหมดได้ คุณสามารถทำทุกอย่างที่คุณต้องการ เพราะคุณเป็นเจ้าของบ้านที่นี่ (ท่าเรือ)”

 

ซูมชัดๆ เส้นสายยุทธศาสตร์ทางทะเลนี้เคลื่อนไหวผ่านจุดสำคัญทางทะเลหลายจุด รวมถึง ศูนย์กลางการเดินเรือทางยุทธศาสตร์อื่นๆ เช่น 1. ช่องแคบมันดับ (ระหว่างเยเมนและคาบสมุทรอาหรับ) 2. ช่องแคบมะละกา(สิงคโปร์) 3. ช่องแคบฮอร์มุซ (ระหว่างอ่าวเปอร์เซียและอ่าวโอมาน) 4. ช่องแคบลอมบอก (เชื่อมระหว่างทะเลชวาและมหาสมุทรอินเดีย) 5. เมืองท่ากวาดาร์ (ปากีสถาน) 6. ท่าเรือฮัมบันโตต้า (ศรีลังกา) 7. เมืองท่าจิตตะกองของบังกลาเทศ  8.เมืองเจียวเพียว (ทางตะวันตกของพม่าในรัฐยะไข่) 9. จิบูตี (แหลมแอฟริกา)

 

(ดูแผนที่ประกอบ)

ส่องยุทธศาสตร์มังกร 9 ท่าเรือล้อมโลก “String of Pearls”

 

นักวิเคราะห์หลายคนในอินเดียเชื่อว่า String of Pearls ร่วมกับ “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” และส่วนอื่นๆ ของยุทธศาสตร์ “One Belt One Road” (OBOR) หรือยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ภายใต้อำนาจประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย

 

มีการวิเคราะห์ว่า String of Pearls จะโอบล้อมอินเดีย และคุกคามการขยายอำนาจ การค้า และบูรณภาพแห่งดินแดน นอกจากนี้การสนับสนุนของจีนต่อปากีสถานซึ่งเป็นศัตรูดั้งเดิมของอินเดีย ผ่านท่าเรือกวาดาร์ (ตั้งอยู่ในทะเลอาหรับในจังหวัดบาโลจิสถานของปากีสถาน) ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามบวกกับความกลัวว่าจีนอาจพัฒนาฐานทัพเรือโพ้นทะเลในกวาดาร์ของปากีสถาน ซึ่งอาจทำให้จีนทำสงครามในมหาสมุทรอินเดียได้อย่างรวดเร็ว

 

ส่วนท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู เมืองใหญ่ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมาร์ก็ถูกมองด้วยความกังวลไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ อินเดียจึงเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามดังกล่าว

 

แม้รัฐบาลจีนจะยืนยันว่า กลยุทธ์ทางทะเลที่กำลังขยายตัวของจีนนี้เป็นไปอย่างสันติและมีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าในภูมิภาคเท่านั้น และทั้งหู จิ่นเทา และ สี จิ้นผิงต่างก็เคยออกมายืนยันว่า จีนจะไม่แสวงหาความเป็นเจ้าโลกในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการวิเคราะห์ในปี 2013 โดย The Economist ก็ยังพบว่า ความเคลื่อนไหวของจีนมีลักษณะเป็นการค้าจริงๆ

 

บ้างก็ว่า จุดเริ่มต้นของ String of Pearls มาจากการที่ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์แนวคิดนี้ของจีนและใช้คำเรียกการรุกคืบทางทะเลของจีนว่า “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” เผยแพร่ครั้งแรกโดยนาวาอากาศโท Christopher J. Pehrson แห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในบทความ “String of Pearls: Meeting the Challenge of China’s Rising Power across the Asian littoral” ตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม 2006

 

โดยได้เปรียบเทียบการที่จีนออกไปขอเช่าหรือสร้างท่าเรือและฐานทัพทางทะเล/ฐานทัพอากาศในหลายประเทศว่า เปรียบเสมือนเป็น “ไข่มุก” แต่ละเม็ดที่จีนค่อยๆ เรียงร้อยเอาไว้จนกลายเป็นสายสร้อยไข่มุกยาวเรียงรายมายังแผ่นดินจีน ครอบคลุมเส้นทางทะเลจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ทะเลอาหรับ ทะเลอันดามัน มาจนถึงทะเลจีนใต้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงวัตถุดิบและพลังงานเพื่อมาป้อนเศรษฐกิจจีนที่โตวันโตคืน

 

บทวิเคราะห์โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์นผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาได้เคยบอกว่า แม้ว่าผู้นำจีนไม่เคยยอมรับเรื่อง“ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” อย่างเป็นทางการ แต่พญามังกรจีนก็ค่อยๆ ทยอยรุกคืบออกไปสร้างฐานอำนาจทางทะเลในดินแดนหลายประเทศริมชายฝั่ง ทั้งในรูปแบบของการช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงิน การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต การออกไปช่วยก่อสร้าง/การเปิดให้บริการท่าเรือในประเทศชายฝั่งเหล่านั้น รวมไปถึงการเข้าไปช่วยปรับปรุงสนามบินหลายแห่ง เพื่อรองรับปฏิบัติการทางทหารและการเข้าถึงท่าเรือ/สนามบินดังกล่าวหากจำเป็น เพื่อการปกป้องเส้นทางขนส่งพลังงานของจีนนั่นเอง

 

ไข่มุกเม็ดงามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัวอย่างเม็ด “ไข่มุก” ของจีนที่เรียงรายไปตามมหาสมุทรอินเดีย เช่น เมืองท่าจิตตะกองของบังกลาเทศ เมืองท่ากวาดาร์ (Gwadar) ของปากีสถาน เมืองท่าในเขตฮัมบันโตตาและท่าเรือที่กรุงโคลอมโบในศรีลังกา ไปจนถึงท่าเรือในอ่าวเปอร์เซีย และท่าเรือซูดานในแอฟริกา

 

แม้จีนจะมีพื้นที่กว้างใหญ่แค่ไหน แต่ก็มีจุดอ่อนจากการมีทางออกทะเลเพียงด้านเดียว คือ มหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้น ในการขนส่งค้าขายกับคู่ค้าหลักอันดับหนึ่งอย่างสหภาพยุโรป จีนก็ต้องเดินเรือทะเลไปอ้อมช่องแคบมะละกา รวมไปถึงการขนส่งพลังงานสำคัญจากตะวันออกกลางก็ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกาอีกเช่นกัน ทำให้เจ้าช่องแคบมะละกานี้เป็นดั่ง “ชีพจรทางทะเล” ของจีน การพึ่งพาและพึ่งพิงช่องแคบนี้มากเกินไป ย่อมเป็นความเสี่ยง รัฐบาลจีนจึงได้พยายามหาทางออกสู่ทะเลอีกด้าน และในที่สุด ก็ตัดสินใจเลือกที่จะใช้เส้นทางผ่านกลางประเทศพม่าเพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

 

ดังนั้น จีนจึงได้เข้าไปทุ่มเทงบประมาณลงทุนและช่วยเหลือพม่าในหลากหลายโครงการอย่างครบวงจร รวมทั้งอภิมหาโครงการพัฒนาเมืองชายฝั่งของพม่า จนทำให้พม่ากลายเป็นประเทศในอาเซียนที่รองรับเงินลงทุนจากจีนมากติดอันดับ 2 เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น

 

ดินแดนในพม่าที่เป็นเสมือนเม็ด "ไข่มุก" ของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์นี้อยู่ที่เมืองเจียวเพียว (ภาษาจีนกลาง) หรือจ้าวผิ่ว (Kyaukpyu) ในภาษาพม่า ตั้งอยู่แถวอ่าวเบงกอลในทะเลอันดามันทางตะวันตกของพม่าในรัฐยะไข่ (Rakhine) ไม่ไกลจากเมืองชิตตะเว่ (Sittwe) มากนัก

 

“One Belt One Road” กับ “String of Pearls”

เป็นที่รู้กันว่า หนึ่งในสองนโยบายสำคัญของประเทศจีนคือ One belt One Road หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางซึ่งเปรียบเสมือน "เส้นทางสายไหมใหม่" ซึ่งมีรากฐานมาจากเส้นทางสายไหมในอดีตที่จะเชื่อมความเจริญทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ทั้งเส้นทางบนบกและทางทะเล โดยจีนมียุทธศาสตร์ในการให้ความสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาเส้นทางเหล่านี้  จนเกิดเป็นข้อครหาของการสร้างการทูตกับดักหนี้ (debt trap diplomacy)

 

และอีกหนึ่งนโยบายที่มีความสำคัญและสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสั่นคลอนความเป็นมหาอำนาจไม่แพ้กันคือ “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก”

 

มีการวิเคราะห์ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนขยายฐานในมหาสมุทรอินเดียผ่าน "การทูตกับดักหนี้" และ“ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” ด้วยหลักฐานจากภาพถ่ายดาวเทียมที่บ่งชี้ว่า จีนกำลังปรับปรุงฐานทัพจิบูตีของตนให้ทันสมัย และด้วยนโยบายกับดักหนี้ จีนหลอกล่อประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์รอบอินเดียให้ยืมเงินกู้โครงสร้างพื้นฐาน เมื่อประเทศต่างๆ เป็นหนี้ จีนจะกดดันให้สนับสนุนผลประโยชน์ทางภูมิยุทธศาสตร์

 

ตัวอย่าง เส้นทางรถไฟลาว-จีนเป็นอีกหนึ่งโครงการ "จีนสร้าง" ที่ถูกกล่าวหาว่า ทำให้ลาวต้องตกอยู่ในกับดักหนี้ หรือ Debt-trap ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่บางประเทศโดยเฉพาะที่เป็นคู่กรณีกับจีนอ้างว่า จีนมีเจตนาทำให้ประเทศเหล่านั้นเป็นหนี้ตนโดยยัดเยียดโครงการพัฒนาต่างๆ นานาที่มีมูลค่ามหาศาลให้ โดยที่ประเทศเหล่านั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ต้องนำ "สิ่งสำคัญระดับชาติ" มาจำนองไว้ ทำให้จีนได้เปรียบในการต่อรอง/บงการประเทศนั้นๆ ในอนาคต

 

ส่องยุทธศาสตร์มังกร 9 ท่าเรือล้อมโลก “String of Pearls”

 

คำว่า Debt-trap นี้ถูกใช้โดยนักวิชาการชาวอินเดีย ชื่อ พรหมา เฉลานี (Brahma Chellaney) หลังจากนั้นก็แพร่หลายอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่เป็นมิตรกับจีน

 

หรือแม้แต่ทุนจีนที่ทุ่มไปกับเมืองท่า “สีหนุวิลล์”  ซึ่งจีนต้องการปั้นให้เป็น “เสิ่นเจิ้นแห่งกัมพูชา” และรัฐบาลกัมพูชาก็อยากสร้างให้เป็น “มาเก๊าแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

 

แต่เวลานี้ชาวโลกทุกคนรับรู้ว่า “สีหนุวิลล์” เปลี่ยนแปลงไปสิ้นแล้ว เมื่อทุนจีนม้วนเสื่อหอบเงินทุนกลับบ้านโครงการก่อสร้างจำนวนนับพันแห่งต้องกลายเป็นโครงการร้างที่สร้างไม่แล้วเสร็จ

 

ว่ากันว่า ด้วยกลยุทธ์ String of Pearls จีนกำลังขยายขอบเขตเพื่อยึดครองดินแดนของอินเดียในมหาสมุทรอินเดีย ด้วยการสร้างวงแหวนรอบอินเดียผ่านประเทศที่วางยุทธศาสตร์ เช่น ที่จิตตะกอง (บังกลาเทศ) ที่การาจีท่าเรือกวาดาร์ (ปากีสถาน) และที่โคลัมโบ ฮัมบันโตตา (ในศรีลังกา)

 

การเชื่อมร้อยของสร้อยไข่มุกและสายไหมเหล็ก

และเมื่อพูดถึงสร้อยไข่มุกยุทธศาสตร์ทางทะเล ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึง การปลุกฟื้นคืนชีพ “เส้นทางสายไหม” ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก จากเส้นทางสายไหมสายเก่าในยุคโบราณ กลายเป็น เส้นทางสายไหมใหม่ หรือ New Silk Road ในยุคสีจิ้นผิง ที่เข้ามาปลุกฟื้นผลักดันโครงการเครือข่ายรถไฟสายไหมเหล็ก เชื่อมโยงแนวรถไฟจากดินแดนจีนตะวันตกไปยังประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางสายไหมเดิม

 

หากดูจากแผนที่สมมติที่ลากจากนครซีอาน ไปจนถึงดินแดนซินเจียงสุดขอบประเทศ ทะลุผ่านซามาคานด์(อุซเบกิสถาน) เตหะราน (อิหร่าน) อิสตันบูล (ตุรกี)  วกไปมอสโคว์ในรัสเซีย จนถึงเมืองท่ารอสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์

 

สำหรับเส้นทางรถไฟ Iron Silk Road จากซินเจียงตามแนว “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน” คาดว่าจะมีความยาวกว่า 1,800 กิโลเมตร เชื่อมตรงจากเมืองคาสือ (คาชการ์) ของซินเจียงไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ของปากีสถานและเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุกของจีนในการพยายามหาทางออกทะเลให้กับมณฑลที่เป็นแลนด์ล็อคทางตะวันตกของจีนด้วย

 

ส่องยุทธศาสตร์มังกร 9 ท่าเรือล้อมโลก “String of Pearls”

 

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น และดร.หลี่ เหรินเหลียงได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า รัฐบาลจีนต้องการผลักดันยุทธศาสตร์ใหญ่ “One Belt, One Road” เพื่อขจัดจุดอ่อนของซินเจียง ดินแดนไกลปืนเที่ยงแลนด์ล็อคห่างไกลทะเล และยังคงมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยังต่ำกว่ามณฑลทางชายฝั่งทะเลของจีน รวมทั้งยังคงมีประเด็นอ่อนไหวทางด้านความมั่นคง จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในซินเจียงบ่อยครั้ง ผู้นำจีนจึงย่อมจะให้ความสำคัญกับซินเจียงเป็นพิเศษ และผลักดันการพัฒนาซินเจียง โดยผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ

 

การผลักดันให้ซินเจียงมีบทบาทเป็น Asia-Europe Land Bridge เพื่อเชื่อมโยงมณฑลจีนตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียใต้ไปจนถึงยุโรป ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ โดยใช้ม้าเหล็กรถไฟ Iron Silk Road เป็นตัวขับเคลื่อนจึงยังเป็นเรื่องท้าทายและต้องติดตามกันต่อไป

 

ตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ การลงทุนทั่วโลกทั้งหมดโดยทางการจีนหรือบริษัทจีนไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้นจึงไม่ทราบความครอบคลุมทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม การวางตำแหน่งของการลงทุนของจีนในที่สาธารณะและมีความสำคัญระดับนานาชาติมากกว่าดูเหมือนจะมีองค์ประกอบทางภูมิรัฐศาสตร์สำหรับพวกเขาอย่างแน่นอน แม้ว่าการลงทุนเหล่านี้มีความสำคัญทางการค้าและเชิงกลยุทธ์มาก แต่ก็อาจกล่าวได้ว่าประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์มีความสำคัญเท่าเทียมกัน

 

และผู้วิจารณ์เรื่อง BRI (Belt and Road Initiative) ทางทะเลใช้ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นพื้นฐานในการวิจารณ์ ท่าเรือที่อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์หรือเป็นอุปสรรคทางการค้าและเป็นการลงทุนของจีน มีดังนี้: - พิราอุส (กรีซ) ช่องแคบยิบรอลตาร์; ช่องแคบฮอร์มุซ; คลองสุเอซ; ช่องแคบบาเบล-มันดับ (ทะเลแดง เยเมน); ช่องแคบมะละกา: ช่องแคบซุนดาร์ (อินโดนีเซีย); คลองปานามา; กวาดาร์ (ปากีสถาน); ช่องแคบมะละกา (อินโดนีเซีย สิงคโปร์); ฮัมบันโตต้า (ศรีลังกา); จิบูตี (เขาแห่งแอฟริกา)

 

ในขณะที่มีการลงทุนนอกชายฝั่งเพียงแห่งเดียวที่มีองค์ประกอบทางทหารคือ จิบูตี ถึงกระนั้น ความครอบคลุมทางภูมิรัฐศาสตร์ในระดับนี้ก็ไม่ได้ทำให้คู่แข่งสบายใจ

 

อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง (ที่ไม่ใช่ชาวจีน) เกิดความกังวลโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากท่าเรือสามารถใช้รวบรวมข่าวกรองทางเรือได้ “คุณสามารถติดตามตำแหน่งของเรือและการสื่อสารได้ คุณสามารถทำทุกอย่างที่คุณต้องการเพราะคุณเป็นเจ้าของบ้านที่นี่” 

 

 

อ้างอิง:

https://www.posttoday.com/hits/666047

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/110200

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/101380

https://en.m.wikipedia.org/wiki/String_of_Pearls_(Indian_Ocean)

https://ditp.go.th/contents_attach/209833/209833.pdf

https://asiancenturyinstitute.com/economy/1719-chinese-container-ports#:~:text=China%20has%2034%20container%20ports,in%20every%20continent%2C%20except%20Antarctica