posttoday

ญี่ปุ่นตั้งเครื่องขาย ‘ซาชิมิวาฬ’ หวังฟื้นยอดขายที่ตกต่ำมาหลายปี

04 กุมภาพันธ์ 2566

บริษัทล่าวาฬของญี่ปุ่นเปิดตัว ‘ตู้จำหน่ายซาชิมิวาฬ สเต็กวาฬ และเบคอนวาฬ’ ในโยโกฮาม่า โดยหวังว่าจะฟื้นยอดขายอาหารที่ตกต่ำมานานและถูกกีดกันจากซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง

Kyodo Senpaku ประธานบริษัท Hideki Tokoro ได้สวมหมวกรูปวาฬเพื่อต้อนรับลูกค้าที่มาใช้บริการร้านค้าไร้พนักงาน (Unmanned Store) ซึ่งเป็นตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจำนวน 3 ตู้ ที่ติดตั้งใน Motomachi ย่านหรูแหล่งรวมแฟชั่นและเบเกอรี่ขึ้นชื่อของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นตั้งเครื่องขาย ‘ซาชิมิวาฬ’ หวังฟื้นยอดขายที่ตกต่ำมาหลายปี

ก่อนหน้านี้ บริษัทได้จัดตั้งตู้ที่มีลักษณะคล้ายกันจำนวน 2 แห่งในโตเกียว โดยมีแผนจะเพิ่มแห่งที่ 4 ทางตะวันตกของโอซาก้าในเดือนหน้า และหวังว่าจะขยายเพิ่มเป็น 100 แห่งในอีก 5 ปีข้างหน้า

“ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งกลัวการถูกคุกคามจากกลุ่มต่อต้านการล่าวาฬ เพราะงั้นพวกเขาเลยไม่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากวาฬ ขณะที่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่อยากกินวาฬแต่ทำไม่ได้ เราเลยจัดตั้งร้านค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว” บริษัท Tokoro ระบุ

สินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นวาฬที่จับได้ภายในญี่ปุ่น โดยมีราคาตั้งแต่ 1,000 เยน ถึง 3,000 เยน (250 บาท - 750 บาท)

ญี่ปุ่นตั้งเครื่องขาย ‘ซาชิมิวาฬ’ หวังฟื้นยอดขายที่ตกต่ำมาหลายปี

การบริโภคเนื้อวาฬของญี่ปุ่นสูงสุดในช่วงต้นทศวรรษ 1960 แต่ยอดบริโภคกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีแหล่งโปรตีนอื่น ๆ ที่วางจำหน่ายและราคาไม่แพง แม้รัฐบาลจะระบุว่าการกินเนื้อวาฬเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนานก็ตาม

ข้อมูลจากรัฐบาลเผยว่าการบริโภคเนื้อวาฬในญี่ปุ่นปี 2021 อยู่ที่ 1,000 ตัน เนื้อไก่อยู่ที่ 2.6 ล้านตัน และเนื้อวัว 1.27 ล้านตัน ขณะที่ในช่วงปี 1962 ยอดบริโภควาฬแตะระดับ 233,000 ตัน

ขณะที่ Katrin Matthes หัวหน้าฝ่ายนโยบายของญี่ปุ่นเพื่อการอนุรักษ์วาฬและโลมา (WDC) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลระดับโลกกล่าวว่า “คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่แทบไม่มีใครเคยลองกินเนื้อวาฬ แล้วจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีใครเคยกิน?”

ญี่ปุ่นตั้งเครื่องขาย ‘ซาชิมิวาฬ’ หวังฟื้นยอดขายที่ตกต่ำมาหลายปี

ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการล่าวาฬระหว่างประเทศ (The International Whaling Commission: IWC) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ดูแลเรื่องการอนุรักษ์วาฬ ได้สั่งห้ามล่าวาฬเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 1986 หลังพบว่าวาฬบางชนิดเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

ญี่ปุ่นยังคงล่าวาฬอย่างต่อเนื่องโดยอ้างว่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัย โดยถอนตัวออกจาก IWC และกลับมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์อีกครั้งในปี 2019

เนื้อวาฬมีปริมาณโปรตีนสูงและปล่อยคาร์บอนต่ำเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่นๆ ขณะที่ผู้สัญจรไปมาผ่านตู้จำหน่ายซาชิมิวาฬระบุว่า พวกเขาเปิดใจที่จะลองทานเนื้อวาฬแต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความพิเศษแต่อย่างใด