posttoday

ผลผลิตฝิ่นในเมียนมาเพิ่มหลังรัฐประหาร

27 มกราคม 2566

หลังการรัฐประหารในประเทศเมียนมา การปลูกฝิ่นในประเทศปี 2022 ก็เพิ่มสูงขึ้นกว่า 40,000 เฮกตาร์หรือราว 250,000 ไร่ เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับปี 2021 คาดชายแดนสามเหลี่ยมทองคำกลับมาเป็นแหล่งใหญ่ยาเสพติดโลกอีกครั้ง

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดการปกครองประเทศในปี 2021 ปริมาณการปลูกฝิ่นในประเทศก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับกฎหมายควบคุมการปลูกฝิ่นระหว่างปี 2014 - 2020 

ปริมาณการปลูกฝิ่นในเมียนมาเพิ่มขึ้นกว่า 33% ขณะที่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้เพิ่มขึ้นกว่า 88% ในปี 2022 ซึ่งในจำนวนนี้เทียบเท่ากับพื้นที่ราว 40,000 เฮกตาร์หรือ 250,000 ไร่ และมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากถึง 790 เมตริกตัน หรือราว 790,000 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปต่อไปสารเสพติดเฮโรอีนได้

UNODC กล่าวในแถลงการณ์ซึ่งควบคู่ไปกับการเผยแพร่การสำรวจฝิ่นของเมียนมาในปี 2022 ว่านับเป็นการขยายตัวครั้งสำคัญของวงจรเศรษฐกิจฝิ่นของเมียนมา ขณะที่การเข้ายึดอำนาจของกองทัพทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาต้องหยุดชะงัก เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลอย่างทางตอนเหนือของรัฐฉานและชายแดนจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องกลับไปปลูกฝิ่นแบบเดิม

สามเหลี่ยมทองคำ พรมแดนที่ไทย ลาว เมียนมาร์บรรจบกัน ถือเป็นศูนย์กลางความร่ำรวยของการค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมายมาอย่างยาวนาน ซึ่งจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติมองว่ามีแนวโน้มที่เมียนมาจะเชื่อมต่อภูมิภาคนี้สู่ตลาดยาเสพติดโลกอีกครั้ง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการปลูกฝิ่นสามารถสร้างกำไรต่อเศรษฐกิจด้านยาเสพในภูมิภาคโดยรอบได้อย่างมหาศาล

การสำรวจคาดว่า การค้าเฮโรอีนในระดับภูมิภาคจะมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าของเศรษฐกิจฝิ่นของเมียนมาร์จะอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าเทคนิคปุ๋ยและการทำไร่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตฝิ่นเพิ่มขึ้นเกือบ 20 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ อันเป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในเมียนมา

การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการปลูกฝิ่นในเมียนมาร์จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจยาเสพติดในวงกว้างซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

ในจีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยังคงมีการใช้เฮโรอีนในระดับที่มีนัยสำคัญ และแน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนฝิ่นจะนำมาซึ่งความท้าทายสำหรับระบบสาธารณสุขและความพยายามลดอันตรายที่อาจส่งผลต่อประชากร