posttoday

สหรัฐฯใกล้ฝั่งฝัน เสิร์ฟเนื้อจากห้องแล็บสู่เมนูอันโอชะ

24 มกราคม 2566

เนื้อจากห้องแล็บก้าวหน้าไปอีกขั้น เตรียมเสิร์ฟนำร่องในร้านอาหารบางแห่งในสหรัฐฯภายในปีนี้ และคาดว่าอาจเป็นประเทศที่ 2 รองจากสิงคโปร์ที่อนุมัติการจำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ

ผู้บริหารจากบริษัทเพาะเนื้อจากห้องแล็บเผยว่า เนื้อจากห้องแล็บอาจนำไปทำอาหารเมนูต่างๆได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และเพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้นไปอีก พวกเขาได้เซ็นสัญญากับเชฟระดับไฮเอนด์อย่าง Argentine Francis Mallmann และ José Andrés เพื่อนำเสนอเมนูเนื้อจากห้องแล็บในระดับร้านอาหารสุดหรู

ผู้บริหาร 5 รายให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า เนื้อจากห้องแล็บจะบรรลุเป้าหมายจนสามารถวางขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ ยังมีอุปสรรคใหญ่ที่ต้องเผชิญ บริษัทต้องดึงเงินลงทุนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และทำให้ได้สินค้าในราคาย่อมเยา และระหว่างนี้การเปิดใจของผู้บริโภคที่จะรับประทานเนื้อเยื้อเพาะเลี้ยงจากห้องแล็บก็ยังถือเป็นอุปสรรคใหญ่

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง หรือ Cultured Meat เป็นเนื้อสัตว์ที่เก็บจากตัวอย่างเล็กๆของเซลล์สัตว์ ก่อนจะนำมาเพาะเนื้อเยื่อให้เติบโตขึ้นในห้องปฏิบัติการ จนกระทั่งกลายเป็นเนื้อที่มีลักษณะและรสชาติไม่ต่างอะไรจากเนื้อสัตว์จริงๆ

ในปัจจุบัน มีเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวที่อนุมัติการขายเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ  ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานสหรัฐฯจะเป็นประเทศที่ดำเนินการตาม ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อย่าง อกไก่สังเคราะห์จากบริษัท UPSIDE Foods นั้นปลอดภัยต่อการบริโภค

ผู้บริหารของ UPSIDE ระบุว่าจะเร่งดำเนินการผลักดันผลิตภัณฑ์เนื้อจากห้องแล็บของตนให้ขยายไปสู่ร้านอาหารต่างๆโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็คือภายในปี 2023 นี้

อย่างไรก็ตาม UPSIDE ยังต้องได้รับการตรวจสอบจาก Food Safety and Inspection Service (FSIS) หน่วยงานดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (U.S. Department of Agricultural-USDA) และได้รับการรับรองผ่านฉลากผลิตภัณฑ์ ซึ่งโฆษกของ FSIS ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นถึงระยะเวลาในการตรวจสอบ