posttoday

IMF กล่าวว่าความแตกแยกอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายมากถึง 7% ของ GDP

16 มกราคม 2566

ความแตกแยกอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลกหลังจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมานานนับทศวรรษอาจทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจโลกลดลงถึง 7% แต่อาจสูงถึง 8-12% ในบางประเทศ หากเทคโนโลยีถูกแบ่งแยกออกจากกัน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF กล่าวในรายงานฉบับใหม่ ว่าแม้แต่การแบ่งแยกที่จำกัดก็สามารถลดจีดีพีทั่วโลกได้ 0.2%  ซึ่งจำเป็นต้องทำงานมากขึ้นเพื่อประเมินความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับระบบการเงินระหว่างประเทศและเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินทั่วโลก

รายงานดังกล่าว ซึ่งถูกเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาระบุว่า กระแสการเคลื่อนย้ายสินค้าและเงินทุนทั่วโลกได้เริ่มปรับตัวลดลงหลังจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552 และข้อจำกัดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในปีถัดมาหลังจากนั้น

 "การระบาดของ COVID-19 และการรุกรานของรัสเซียในยูเครนได้เป็นประเด็นท้าทายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้นและความสงสัยที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประโยชน์ของโลกาภิวัตน์"

รายงานนี้กล่าวว่าความสัมพันธ์ทางการค้าที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความยากจนทั่วโลกลดลงอย่างมากเป็นเวลาหลายปี ในขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำในประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยราคาที่ลดลง

การลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้า จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำและผู้บริโภคที่มั่งคั่งน้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ข้อจำกัดในการโยกย้ายถิ่นฐานข้ามพรมแดนจะทำให้ประเทศเจ้าภาพขาดทักษะที่มีค่า ในขณะเดียวกันก็ลดการส่งเงินกลับประเทศต้นทางของผู้อพยพ

การลดลงของกระแสเงินทุนจะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง ในขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลงจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการจัดหาสินค้าพื้นฐานที่สำคัญของโลก

IMF กล่าวว่าการศึกษาที่มีอยู่ชี้ให้เห็นว่ายิ่งความแตกแยกมากเท่าไร ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะหากเกิดการแบ่งแยกด้านเทคโนโลยีจะยิ่งเพิ่มความความสูญเสียจากข้อจำกัดทางการค้าออกไปมากขึ้น

คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่และประเทศที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปสู่ 'การแบ่งภูมิภาคทางการเงิน' และระบบการชำระเงินทั่วโลกที่แตกแยกมากขึ้น

'การแบ่งปันความเสี่ยงระหว่างประเทศน้อยลง (การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจทั่วโลก) อาจนำไปสู่ความผันผวนทางเศรษฐกิจมหภาคที่สูงขึ้น วิกฤตการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจทำให้ประชาคมโลกลดการสนับสนุนประเทศที่กำลังประสบวิกฤติและทำให้การแก้ไขวิกฤติหนี้สาธารณะในอนาคตมีความซับซ้อนมากขึ้น