posttoday

แคลิฟอร์เนียอ่วม! พายุจ่ออีกระลอก คาด ‘บอมบ์ไซโคลน’ เป็นผลจาก Climate change

07 มกราคม 2566

ผลพวงจากพายุที่พัดถล่มอย่างถาโถมส่งผลให้รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯ เกิดฝนตกอย่างหนัก ปริมาณน้ำเอ่อทะลักโอบล้อมในชั่วข้ามคืน บ้านเรือนราว 180,000 หลังคาเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนหลายเส้นถูกตัดขาดจากน้ำท่วมเฉียบพลัน และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย

แม้ว่าพายุลูกดังกล่าวจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงส่งท้ายปี 2022 และผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันจะส่งผลต่อทรัพย์สินน้อยกว่าที่คิด แต่นักพยากรณ์ออกโรงเตือนว่าพายุระลอกใหม่จะโหมกระหน่ำอีกครั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ขณะที่ทางการแคลิฟอร์เนียออกประกาศเตือนและสั่งอพยพประชาชน โดยเฉพาะในซานตาบาร์บารา, ซานฟรานซิสโกและซาคราเมนโต

หนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตจากพายุลูกนี้ เป็นเด็กวัย 1 ขวบ ที่เสียชีวิตจากต้นไม้ล้มทับบ้าน ขณะที่อีกรายเป็นหญิงสาววัย 19 ปีที่ถูกน้ำพัดพาจนเสียชีวิต จากอุบัติเหตุขับรถชนกับเสาไฟฟ้า

ด้านสำนักงานบริการสภาพอากาศแห่งชาติ (National Weather Service:NWS) ยังออกโรงเตือนว่าอาจเกิดดินโคลนถล่ม ลมพัดโหมกระหน่ำ หิมะตกหนักในภูมิภาคหุบเขาของแคลิฟอร์เนีย และน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่เคยประสบเหตุไฟป่าถือเป็นจุดเปราะบางที่สุด ทั้งยังคาดการณ์ว่าหากเกิดน้ำท่วมระลอกใหม่ สถานการณ์จะอ่วมหนักกว่าครั้งก่อนหน้า เนื่องจากพื้นดินยังอุ้มน้ำที่เคยท่วมไว้อยู่ ทำให้ไม่สามารถดูดซับน้ำระลอกใหม่เพิ่มได้

ตามรายงาน จากศูนย์พยากรณ์อากาศ NWS ในรัฐแมรี่แลนด์ระบุว่า พายุลูกล่าสุดที่พัดถล่มซานฟรานซิสโก มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 2 นิ้ว หรือราว 51 มม. ขณะที่บริเวณภูเขาชายฝั่งทางเหนือของเมืองปริมาณน้ำฝนสูงถึง 5 นิ้ว 

พายุลูกนี้เกิดจาก 2 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้อนทับกัน ได้แก่ กระแสของไอน้ำที่มีชื้นหนาแน่นไหลเวียนและพัดพาเอาความชุ่มชื้นไปทำให้เกิดพายุฝนในส่วนต่าง ๆ ของโลก หรือที่เรียกว่า แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ" (Atmospheric river) ประกอบกับพายุที่เกิดจากความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว หรือที่รู้จักกันในชื่อ บอมบ์ไซโคลน (bomb cyclone) ซึ่งคาดว่าปรากฎการณ์ทับซ้อนกันในครั้งนี้เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือ Climate change