posttoday

ปูถนนด้วยขยะพลาสติก เส้นทางสายใหม่เพื่อช่วยโลกแบบยั่งยืน?

07 มกราคม 2566

เมื่อจำนวนขยะพลาสติกที่ถูกนำมารีไซเคิลจริงมีเพียง 9% เท่านั้น หลายประเทศจึงพยายามผลักดันเรื่องการจัดการขยะให้ถูกต้อง ผ่านการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำขยะพลาสติกกลับมาสร้างให้เกิดประโยชน์ เช่น การสร้างถนนจากขยะพลาสติก

พลาสติก หนึ่งในตัวการใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม หลายอุตสาหกรรมพยายามนำพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามมีเพียงร้อยละ 9 ของจำนวนขยะพลาสติกเท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลจริง หลายประเทศจึงพยายามผลักดันเรื่องการจัดการขยะให้ถูกต้อง ผ่านการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำขยะพลาสติกกลับมาสร้างให้เกิดประโยชน์ เช่น การสร้างถนนจากขยะพลาสติก

ปูถนนด้วยขยะพลาสติก เส้นทางสายใหม่เพื่อช่วยโลกแบบยั่งยืน?

จุดกำเนิดการปูถนนจากขยะพลาสติก

ไอเดียการสร้างถนนจากขยะพลาสติกเกิดขึ้นครั้งแรกราว 20 ปีก่อน ในประเทศอินเดียโดยชายที่ชื่อว่า ราชโคปาลัน วสุเทวัน (Rajagopalan Vasudevan) นักวิทยาศาสตร์จากดินแดนมหาภารตะที่ทำงานด้านการจัดการขยะ เขาเริ่มหาวิธีจัดการกับขยะพลาสติกโดยการผสมพวกมันเข้ากับน้ำมันดิน และกาวโพลีเมอร์ในการก่อสร้างถนน ซึ่งไอเดียนี้ช่วยให้การสร้างถนนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทนทานและสามารถกำจัดพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมออกไปได้

แนวคิดของราชโคปาลันเริ่มแพร่หลายในหลายพื้นที่ในแถบชนบทของอินเดีย โดยเมืองปัญจยัต ในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย ถือเป็นเมืองแรกที่มีการปูถนนจากขยะพลาสติกตั้งแต่ปี 2004 เพื่อการสร้างประโยชน์อย่างสูงสุดราชโคปาลันมอบลิขสิทธิ์แนวคิดนี้แก่สาธารณะชนในปี 2006 ก่อนจะเริ่มแพร่หลายไปตามเมืองต่างๆ

ข้อมูลจาก Yale Environment 360 ในปี  2021 ระบุว่าอินเดียได้สร้างถนนที่ทำมาจากขยะพลาสติกแล้วกว่า 60,000 ไมล์ หรือ 96,560 กิโลเมตร การนำพลาสติกเหลือใช้มาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในปริมาณ 1 ตัน จะสามารถสร้างถนนความกว้าง 3.5 เมตรได้ถึง 1 กิโลเมตร และยังช่วยให้ประหยัดยางมะตอยมากขึ้น 10%

ปูถนนด้วยขยะพลาสติก เส้นทางสายใหม่เพื่อช่วยโลกแบบยั่งยืน?

สหรัฐฯกับการพัฒนาถนนจากพลาสติกรีไซเคิล

ตามคำกล่าวของ Melissa Savage อดีตผู้อำนวยการโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนแห่งสมาคมอเมริกันทางหลวงของรัฐและเจ้าหน้าที่ขนส่ง (American Association of State Highway and Transportation Officials: AASHTO) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในอเมริกามีอย่างน้อย 6 รัฐที่เริ่มมีการทดสอบถนนที่ถูกสร้างมาจากถุงพลาสติกจากร้านขายของชำ กล่องน้ำผลไม้ ตลับหมึกเครื่องพิมพ์ รวมถึงขยะพลาสติกอื่นๆที่ถูกทิ้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่ปลายทางหนีไม่พ้นหลุมฝังกลบแล้ว ยังช่วยให้ถนนมีประสิทธิภาพที่แข็งแรงทนทานขึ้น แถมยังประหยัดงบประมาณในการสร้าง

นอกจากนี้ทางรัฐบาลกลางยังมีกฎหมายและโครงการใหม่ๆเพื่อมุ่งมั่นและผลักดันในการใช้วัสดุที่ยั่งยืน ปัจจุบันถนนตัดผ่านมหาวิทยาลัยมิสซูรี-โคลัมเบียถือเป็นโครงการนำร่องที่กรมการขนส่งและมหาวิทยาลัยมิสซูรีร่วมมือกัน โดยการนำเม็ดพลาสติกจากขวดน้ำมาผสมกับยางมะตอยเพื่อปูถนน

Ed Hassinger หัวหน้าวิศวกรกล่าวว่า "ทฤษฎีต่างๆอาจใช้ได้ในห้องแล็บ ขั้นตอนต่อไปคือเราต้องนำมันมาใช้บนถนนในโลกแห่งความเป็นจริง สถานการณ์ที่ดีที่สุดในตอนนี้คือเราสามารถทำให้ยางมะตอยมีความยืดหยุ่นและทนทานมากกว่าเดิม แถมยังช่วยกำจัดขยะและของเสีย"

ปูถนนด้วยขยะพลาสติก เส้นทางสายใหม่เพื่อช่วยโลกแบบยั่งยืน?

ทั้งทางฝั่งฮาวาย, แคลิฟอร์เนีย, โคลอมเบีย, เวอร์จิเนีย และเพนซิลเวเนีย ถือเป็นรัฐที่ร่วมดำเนินการปูถนนจากการขยะพลาสติกเช่นเดียวกัน ส่วนประสิทธิภาพก็เป็นที่น่าพึ่งพอใจ ผ่านร้อนผ่านหนาวหรือรถบรรทุกกี่พันคัน ถนนที่ทำจากขยะพลาสติกก็ยังแข็งแรงทนทานไร้ซึ่งรอยแตกร้าว แม้ว่าทางการจะยังจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าไมโครพลาสติกจากการสร้างถนนจะไม่ไหลเจือปนไปกับแหล่งน้ำ

ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนสหรัฐ (National Renewable Energy Laboratory: NREL) ประเมินว่าในปี 2019 มีขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดด้วยการฝังกลบถึง 44 ล้านเมตริกตัน และขยะพลาสติกในสหรัฐฯมีเพียง 5% ที่ถูกนำไปรีไซเคิล 86% ถูกฝังกลบ ส่วนจำนวนที่เหลือถูกนำไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

กระทรวงคมนาคมแห่งสหรัฐอเมริกาเผยว่า การสร้างถนนจากการผสมยางมะตอยเข้ากับพลาสติกในฮาวายเพียงรัฐเดียว ช่วยให้เราสามารถกำจัดขยะพลาสติกที่มีปริมาณเทียบเท่าขวดน้ำ195,000 ขวดไม่ให้มีจุดจบที่หลุมฝังกลบ

แม้การปูถนนด้วยขยะพลาสติกจะเป็นเพียงโครงการนำร่องที่ยังดำเนินงานได้ไม่นาน และยังไม่ถูกใช้กับถนนทุกสาย แต่ถ้าหากผู้รับเหมาหรือบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องในการสร้างถนนมีความสนใจในแนวคิดดังกล่าว ในอนาคตเราอาจได้เห็นว่าการปูถนนด้วยขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป

ปูถนนด้วยขยะพลาสติก เส้นทางสายใหม่เพื่อช่วยโลกแบบยั่งยืน?

ถนนจากพลาสติกกับความเป็นไปได้ในประเทศไทย

ในไทยเองก็มีโครงการนำร่องถนนจากขยะพลาสติกเช่นเดียวกัน จากความร่วมมือของ เอสซีจี และ ดาว เคมิคอล ซึ่งต้นแบบของถนนสายนี้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 2,600 ตารางเมตร ซึ่งคาดว่าหากปูถนนนำร่องในพื้นที่นี้จะสามารถลดขยะพลาสติกไปได้ถึง1.3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติก 100,000 ใบ

การนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในระดับมหภาค แน่นอนว่าต้องได้รับความร่วมมือและเห็นดีเห็นงามจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงต้องมีวิธีการแยกขยะที่เหมาะสม หากปราศจากซึ่ง 2 สิ่งหลักๆนี้การสานต่อไอเดียก็อาจเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามการปูถนนด้วยขยะพลาสติกเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายทาง ตราบใดที่พลาสติกยังถูกผลิตเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในทุกๆวันก็ยังเป็นการยากที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนแบบเต็มรูปแบบ

 

ข้อมูลอ้างอิง