posttoday

การคว่ำบาตรจะทำให้คริปโตกลายเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศหรือไม่?

03 พฤษภาคม 2565

เริ่มมีความเห็นในทำนองนี้ แต่ธนาคารกลางบางแห่งปฏิเสธ อย่างไรก็ตามมันเป็นความไหวที่ต้องจับตา เพราะจะทำให้สถานะของคริปโตแกร่งขึ้นหากมีชาติใดชาติหนึ่งทำขึ้นมาจริงๆ

ในช่วงนี้เริ่มมีการพูดถึงกันมากเกี่ยวกับโอกาสที่คริปโตเคอร์เรนซี่จะกลายเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign exchange reserves) เช่นความเห็นของ Mark Lurie ซึ่งเป็น CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Shipyard Software ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ซื้อขายคริปโต กับ Peter Dittus เป็นอดีตเลขาธิการธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) และนักเศรษฐศาสตร์ เขียนบทความทัศนะเรื่อง "การคว่ำบาตรทางตะวันตกของรัสเซียจะทำให้คริปโตเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศได้อย่างไร"

พวกเขาเขียนว่าการที่สหรัฐและชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย โดยเฉพาะการอายัดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัสเซีย และการระงับการชำระเงินระหว่างประเทศจากธนาคารรัสเซีย คือการใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธรวมถึงใช้ระบบการเงินของตัวเองคือ SWIFT เป็นอาวุธเช่นกัน และทำให้ประเทศเล็กๆ ต้องหวั่นใจ

พวกเขาเขียนว่า "นอกจากนี้ ยังง่ายที่จะเห็นว่ารัฐที่เล็กกว่าและมีอำนาจน้อยกว่าจะสนใจทางเลือกที่สามอย่างไร คือสกุลเงินสำรองที่เป็นกลางและระบบการชำระเงินที่มีภูมิคุ้มกันต่ออาวุธ ทันใดนั้นพวกเขาจะไม่ต้องร้องขอความเมตตาทางการเงินจากมหาอำนาจโลกอีกต่อไป"

พวกเขายกตัวอย่าง เอลซัลวาดอร์ที่ปีที่แล้วอยอมรับ Bitcoin เป็นเงินที่ถูกกฎหมาย เมื่อเดือนที่แล้วยูเครนยอมรับ Bitcoin และสกุลเงินอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งสำหรับการชำระเงิน

นอกจากนี้ยังมีกรณีของสาธารณรัฐแอฟริกากลางที่ยอมรับ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าอาจเกี่ยวกับการสลัดตัวสเองจากสกุลเงินร่วมในภูมิภาคที่ผูกติดกับระบบเศรษฐกิจของฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมเดิม

จุดเปลี่ยนอยู่ที่วงการน้ำมัน

แต่ Mark Lurie กับ Peter Dittus บอกว่าจุดเปลี่ยนอาจเป็นผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่ เช่น เวเนซุเอลาหรือกาตาร์ใช้สกุลเงินดิจิทัลและกำหนดราคาส่งออกน้ำมันบางส่วนเป็น Bitcoin "เมื่อน้ำมันและก๊าซสามารถกำหนดเป็นสกุลเงินดิจิทัลได้ เราก็จะเห็นธุรกิจต่างๆ เริ่มผูกมัดสินค้าและบริการของตนกับสกุลเงินดิจิทัล"

ตัวอย่างอีกหนึ่งประเทศที่น่าจะใช้คริปโตเพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร คือคิวบา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อ 27 เมษายน ว่าธนาคารกลางคิวบาได้ออกกฎระเบียบสำหรับผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือน หลังจากที่อนุมัติการใช้คริปโตเป็นการส่วนตัวเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าอาจช่วยให้คิวบาเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐ

การคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อคิวบายาวนานหลายสิบปีได้ตัดขาดชาวคิวบาออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศและตลาดการเงินในระดับสากล ในประเทศตัวเองนั้นชาวคิวบาไม่สามารถรับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตสำหรับใช้ในต่างประเทศ

ตัวช่วยหนุนสินทรัพย์ดอลลาร์

นอกจากจะใช้เป็นตัวเลือกแทนเงินดอลลาร์ที่ถูกชาติตะวันตกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองมากขึ้น รวมถึงหลีกเลี่ยงระบบการเงินที่อิงกับมาตรกาาคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ในภาคธุรกิจคริปโตเองก็ยังมีความเคลื่อนไหวที่คล้ายๆ กัน

เช่น เมื่อต้นเดือนเมษายนสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า Terraform Labs สะสม Bitcoin ขึ้นเกือบ 40,000 โทเค็น มูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ ในการซื้อผ่าน Luna Foundation Guard ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ไม่แสวงหากำไร ตามข้อมูลบล็อกเชนที่เปิดเผยต่อสาธารณะ 

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจาก ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทคือ  Do Kwon ได้ประกาศบน Twitter เมื่อเดือมีนาคมแล้วว่ามีโครงการจะซื้อ Bitcoin สำรองมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์เพื่อมาหนุน TerraUSD ซึ่งเป็นสเติเบิลคอยน์ที่อิงกับดอลลาร์สหรัฐ 

Do Kwon บอกว่าการซื้อ Bitcoin มาช่วยหนุนสเตเบิลคอยน์ที่อิงกับดอลลาร์นั้น "จะเปิดศักราชใหม่ของมาตรฐาน Bitcoin" นั่นคือการทำให้มันเป็นสกุลเงินที่เป็นมาตรฐานอ้างอิงมูลค่าเทียบเท่ากับทองคำหรือดอลลาร์

นี่อาจเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้คริปโตเป็นสกุลเงินสำรองทั้งในระดับรัฐและระดับเอกชน 

แต่วันนั้นยังไม่มาถึง?

แต่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเมื่อวันที่ 29 เมษายน ว่า ธนาคารแห่งชาติสวิสต่อต้านการซื้อและถือ Bitcoin เป็นสกุลเงินสำรอง โดยประธานธนาคารคือ Thomas Jordan กล่าวในการประชุมสามัญประจำปีของธนาคารกลางเมื่อวันศุกร์

“การซื้อ Bitcoin นั้นไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา เราสามารถทำได้โดยตรงหรือสามารถซื้อผลิตภัณฑ์การลงทุนที่อิงกับ Bitcoin” Thomas Jordan กล่าว “เราสามารถจัดเตรียมเงื่อนไขทางเทคนิคและการปฏิบัติงานได้ค่อนข้างเร็ว เมื่อเรามั่นใจว่าเราต้องมี Bitcoin ในงบดุลของเรา

“แต่จากมุมมองปัจจุบัน เราไม่เชื่อว่า Bitcoin ตรงตามข้อกำหนดของเงินสำรอง นั่นเป็นสาเหตุที่เราตัดสินใจจนถึงตอนนี้ว่าจะไม่มี Bitcoin ในงบดุลของเรา” เขากล่าวเสริม

ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

Photo - REUTERS/Benoit Tessier/File Photo