posttoday

สตาร์ทอัพอินโดพัฒนาวัคซีนพาสปอร์ตแซงรัฐบาล

13 พฤษภาคม 2564

My Health Diary สตาร์ทอัพด้านสุขภาพจากอินโดนีเซียกำลังพัฒนาโปรแกรมนำร่องวัคซีนพาสปอร์ต

ขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับวัคซีนพาสปอร์ต แต่นิเคอิ เอเชียระบุว่าภาคเอกชนอย่างบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพในเอเชียกำลังเดินหน้าใช้ประโยชน์จากความสามารถทางเทคโนโลยีของตนเพื่อพัฒนาวัคซีนพาสปอร์ตสำหรับอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยหนึ่งในนั้นคือ My Health Diary บริษัทสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย

แซงหน้ารัฐบาล?

My Health Diary เริ่มจากการพัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอทางไกล (teledoctor) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 แอปพลิเคชันดังกล่าวก็เพิ่มคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดมากขึ้นตลอดจนการเผยแพร่ข่าวสารและการสัมมนาผ่านเว็บ ที่สำคัญคือสามารถสำรองการตรวจหาเชื้อและการฉีดวัคซีนได้อีกด้วย

และตอนนี้ My Health Diary กำลังนำร่องโปรแกรมที่ตรวจสอบประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเพื่อพัฒนาพาสปอร์ตสุขภาพหรือวัคซีนพาสปอร์ต โดยมีแนวคิดคือการติดอาวุธให้กับผู้ใช้ด้วยเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้อย่างเช่นสมาร์ทวอทช์ เพื่อติดตามและประเมินสุขภาพร่างกายของผู้ใช้ ตลอดจนประวัติการฉีดวัคซีน เพื่อนำไปออกบาร์โค้ดบ่งชี้ว่าผู้ใช้รายนั้นมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงและเหมาะสมในการเดินทางหรือไม่

เฮอร์แมน หวง (Herman Huang) ผู้ก่อตั้งกล่าวว่า "ในไม่ช้าก็เร็วรัฐบาลต้องออกพาสปอร์ตสุขภาพแห่งชาติออกมา และผมเชื่อว่ามันสมเหตุสมผลที่รัฐบาลจะเลือกใช้แอปพลิเคชันที่สามารถปรับใช้และได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ในภูมิภาค"

ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียมี 2 ระบบที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นวัคซีนพาสปอร์ตได้คือ e-HAC บัตรแจ้งเตือนด้านสุขภาพที่นักเดินทางทุกคนต้องกรอกไม่ว่าเดินจากเข้ามาจากต่างประเทศหรือเดินทางภายในประเทศ และอีกระบบคือใบรับรองการฉีดวัคซีนดิจิทัลที่รัฐบาลออกให้

อย่างไรก็ตามหวงเชื่อว่าพาสปอร์ตสุขภาพที่พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพนั้นคล่องตัวกว่าระบบของรัฐบาลและสามารถเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ได้รวดเร็วกว่า

รู้จัก My Health Diary

บริษัทสตาร์ทอีพจากอินโดนีเซียซึ่งพัฒนาแอปพลิเคชันด้านสุขภาพจากทีมแพทย์สำหรับให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพแก่ผู้ใช้แบบส่วนตัวโดยใช้เทคโนโลยี AI สำหรับให้ข้อมูลและคำแนะนำทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือได้ทุกเวลา ตลอดจนครอบคลุมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยฐานข้อมูลของโรคในแอปพลิเคชันมีกว่า 100 โรคซึ่งทีมงานจะยังคงอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับโรคอื่นๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้วยการแชร์ข้อมูลผิดๆ จำนวนมากบนโลกออนไลน์ทั่วโลกรวมถึงในอินโดนีเซีย My Health Diary จึงได้จัดสัมมาออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 แก่ประชาชนด้วยไม่ว่าจะเป็นแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคอย่างการเว้นระยะห่าง, อาการของโรค, ชุดตรวจหาเชื้อ และการหลีกเลี่ยงข่าวปลอมในสื่อ เป็นต้น

"แอปพลิเคชันนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อแทนที่บทบาทของแพทย์ แต่เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพแก่สาธารณชน" หวงกล่าวกับ Kompas.com เมื่อปี 2019

นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้สามารถบันทึกข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของตน หรือเพิ่มตารางเวลาของตัวเอง เช่น กำหนดการออกกกำลังกาย ตั้งเวลาสำหรับทานยา ให้ผู้ใช้ไม่ลืมกิจกรรมสำคัญในวันเวลาที่กำหนด รวมถึงสามารถค้นหาข้อมูลโรงพยาบาลได้อย่างสะดวกควบคู่ไปกับคุณสมบัติ GPS เพื่อให้สามารถค้นหาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้อย่างง่ายดาย

Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP