posttoday

เปิดสมรภูมิไอโอระดับโลกในยุคที่ข้อมูลคืออาวุธ

01 ธันวาคม 2563

ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กเฟื่องฟู “ข้อมูล” ได้กลายเป็น “อาวุธ” ชิ้นใหม่ที่รัฐบาลหลายประเทศใช้สู้รบกับฝ่ายตรงข้าม

ทวิตเตอร์สร้างกระแสขึ้นในเมืองไทยอีกครั้งด้วยการระงับบัญชี @jitarsa_school ซึ่งส่อแววว่าจะเป็นไอโอ (IO) เนื่องจากมีการโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อตอบโต้การชุมนุมประท้วงซึ่งนำโดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน หลังจากที่เคยตีแผ่ความจริงไปก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลไทยและกองทัพไทยเกี่ยวข้องกับบัญชีไอโอที่ถูกทวิตเตอร์ลบไป 926 บัญชี

คำว่า “ไอโอ” หรือ Information Operation  คือ ปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร เป็นการเผยแพร่ความคิดความเชื่อของฝั่งตัวเอง และทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม

อันที่จริงไอโอไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่มีการใช้ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารกันมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐและสหภาพโซเวียตแย่งชิงความเป็นใหญ่กัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็ปล่อยข้อมูลข่าวสารออกมาสร้างความได้เปรียบให้ตัวเองและใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม

ก่อนหน้านี้จะใช้คำว่า Information Warfare หรือ Cyber War หรือ Net War โดยคำว่า Information Operation ปรากฏในเอกสารอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐเมื่อปี 2003 ซึ่งผู้อนุมัติหลักการนี้คือ โดนัลด์ รัมส์เฟลด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ แต่เอกสารนี้เพิ่งได้รับการเปิดเผยในเดือนมกราคม 2006 โดยมีเนื้อหาอธิบายแนวทางของกองทัพสหรัฐในการทำสงครามข้อมูล

หากพูดถึงปฏิบัติการด้านข้อมูล รัสเซียถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ใช้ข้อมูลทั้งที่ถูกต้องและบิดเบือนโดยกองทัพ อดีตสหภาพโซเวียตใช้การโฆษณาชวนเชื่อในประเทศเพื่อสร้างความรักชาติ และใช้ปฏิบัติการด้านข้อมูลในต่างประเทศเพื่อเพาะสร้างความไม่สงบในประเทศที่เป็นคู่แค้นกันเพื่อสร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง

ตัวอย่างเช่น ในปี 1984 สายลับเคจีบีของรัสเซียทำทีเป็นสมาชิกกลุ่มคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) ที่มีแนวคิดนิยมคนผิวขาวแบบสุดโต่ง เพื่อเผยแพร่เนื้อหาสร้างความเกลียดชังเพื่อทำให้ความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติที่มีอยู่แล้วแย่ลงไปอีก

ในปัจจุบันรัสเซียก็ยังใช้วิธีนี้  โดยการซื้อโฆษณาในเฟซบุ๊คเพื่อเผยแพร่เนื้อหาทั้งที่เกี่ยวกับกลุ่ม Black Lives Matter ที่ออกมาประท้วงการใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำของตำรวจ และกลุ่ม Blue Lives Matter ที่สนับสนุนตำรวจ

ในกรณีนี้รัสเซียไม่ได้ยืนมือเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้บรรลุนโยบายสนับสนุนรัสเซียหรือนโยบายที่โจมตีสหรัฐโดยตรง แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมสหรัฐและสร้างความไม่เชื่อมั่น หรือพูดง่ายๆ ก็คือยุยงให้คนอเมริกันแตกคอกันเอง

คณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านข่าวกรองพบว่าเมื่อปี 2018 หน่วยงาน Internet Research Agency ที่มีรัฐบาลรัสเซียอยู่เบื้องหลัง จ่ายเงินซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ค 3,519 ครั้ง โดยโฆษณาทั้งหมดนี้เข้าถึงคนอเมริกันกว่า 11.4 ล้านคน

จีนก็มีปฏิบัติการไอโอเช่นกัน โดยในจีนมีชื่อว่า อู่เหมาตั่ง หรือ กองทัพ 0.5 หยวน ซึ่งก็คือแอคเคาต์อวตารที่ถูกจ้างด้วยเงิน 0.5 หยวนต่อโพสต์ให้โพสต์ข้อความที่เชียร์รัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ และคอยตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2017 พบว่าทุกๆ ปีไอโอจีนจะโพสต์ข้อความลงในโลกโซเชียลประมาณ 448 ล้านโพสต์ โดย 52.7% พบได้ในเว็บไซต์ของรัฐ

กลยุทธ์ของรัฐบาลจีนคือ หลีกเลี่ยงการโต้เถียงกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคคอมมิวนิสต์หรือรัฐบาล แต่เน้นเบี่ยงประเด็น

เมื่อเดือน ธ.ค. 2014 บล็อกเกอร์ที่ใช้ชื่อว่า Xiaolan นำหลักฐานออกมาแฉปฏิบัติการไอโอของรัฐบาล โดยเป็นอีเมลในปี 2013 และปี 2014 ที่ส่งเข้ามาและส่งออกจากบัญชีของหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อทางอินเทอร์เน็ตของจีนในเขตจางก้งของมณฑลเจียงซี

อีเมลเหล่านั้นเป็นการรายงานกิจกรรมต่างๆ ของบรรดาไอโอ รวมทั้งโพสต์ของกองทัพ 0.5 หยวนที่นำ “การบ้าน” มาส่งเพื่อทำผลงาน คล้ายๆ กับเอกสารต่างๆ ที่หลุดออกมาในโลกโซเชียลของไทยที่อ้างกันว่าเป็นของกองทัพไทย

เดือน มิ.ย.ปีนี้ ทวิตเตอร์ได้ปิดบัญชีกว่า 173,750 บัญชีที่ถูกจีนใช้ในปฏิบัติการไอโอเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจีนระหว่างการระบาดของ Covid-19 และใช้โจมตี กัวเหวินกุ้ย นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของฮ่องกง

การทำสงครามไอโอนี้เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ ไม่เว้นแต่ในบราซิล ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งผู้นำประเทศเมื่อปี 2018  ฝ่ายอนุรักษนิยมที่สนับสนุนผลประโยชน์ทางธุรกิจลงขันกันทำแคมเปญปล่อยข่าวบิดเบือนในแอพพลิเคชั่น WhatsApp เพื่อโจมตีคู่แข่งทางการเมืองของโบลโซนารู

ผู้เชี่ยวชาญชาวบราซิลเชื่อว่า การทำไอโอครั้งนั้นมีส่วนทำให้ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิลคว้าชัยในการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการปล่อยข้อมูลของรัสเซียช่วงการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2016 ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ เอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต

จากหลายๆ เหตุการณ์ข้างต้นนี้จะเห็นว่า การกดคีย์บอร์ดเพียงไม่กี่ครั้งก็สามารถสร้างความเสียหายได้มหาศาลไม่แพ้อาวุธสงครามร้ายแรงที่ประเทศมหาอำนาจเคยใช้สู้รบกัน

ภาพ : https://www.arcyber.army.mil/