posttoday

จีนจะเล่นงานศัตรูใกล้หรือจับตาศัตรูไกล?

17 กันยายน 2563

ศัตรูใกล้ของจีนในเวลานี้ "ที่ใกล้ที่สุด" คืออินเดีย

แม้ว่าสุบราห์มันยัม ไจชานคาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กับ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน จะหารือนอกรอบระหว่างการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในกรุงมอสโกของรัสเซีย โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน 5 ข้อ เพื่อบรรเทาความตึงเครียดระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศบริเวณพรมแดนจีน-อินเดีย

แต่ตามชายแดนของทั้ง 2 ประเทศไม่ได้สงบตามไปด้วย ยังมีการแสดงแสนยานุภาพกันเป็นปกติ อินเดียนั้นส่งยุทธภัณฑ์เข้าไปในชายแดนอย่างเร่งด่วนก่อนจะถึงฤดูหนาวซึ่งเส้นทางจะถูกตัดขาด ส่วนจีนก็เร่งเสริมกำลังเข้าไปในทิเบตทั้งกำลังทหารและกำลังการพัฒนาพื้นที่

ตอนนี้ศึกอินเดียเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่สุด ลงรองมาคือแนวทะเลจีนใต้

ถามว่าจีนจะรับมือจุดไหนก่อน?

เฉียวเหลียง นายพลเกษียณอายุราชการในกองทัพอากาศกองทัพปลดแอกประชาชน ผู้เขียนหนังสือ "สงครามไร้ขีดจำกัด" (Unrestricted Warfare) ซึ่งผู้เขียนเคยนำเสนอไป บอกว่าจีนควรจะพร้อมรับกับสงครามกับอินเดีย

นายพลเฉียวบอกในบัญชี WeChat ว่า “เรา (ชาวจีน) ไม่ควรประเมินการตอบสนองของอินเดียสูงเกินไป แต่เราต้องไม่ปล่อยให้การป้องกันของเราลดลง” และจีนต้องมีท่าที “ริเริ่ม” ในกรณีที่ความขัดแย้งทางทหารที่รุนแรงขึ้นตามแนวชายแดน

คำว่า “ริเริ่ม” ที่นายพลเฉียงเหลียงใช้อาจแปลความหมายได้ว่าจีนต้องมีท่าทีเชิงรุก

กุนซือคนสำคัญของยุทธศาสตร์การรบแผนใหม่ของจีนบอกว่า “จะต้องโจมตีอย่างรวดเร็วและควบคุมสเกลในสงครามขนาดเล็กและขนาดกลางที่มุ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับฝ่ายตรงข้าม ด้วยเหตุนี้ (จีน) จึงจะได้รับการซูฮกจากการทำสงครามเล็กๆ”

หากจีนได้รับชัยชนะในสงครามที่ควบคุมขนาดได้ จีนก็จะสามารถทำให้สหรัฐและฝ่ายสนับสนุนเอกราชในไต้หวันต้องยำเกรง

จะเห็นได้ว่าเฉียวเหลียงเสนอแผน "ตีอินเดียกระทบอเมริกา" คือการทำสงครามที่เอาชนะได้ง่ายเพื่อทำให้ประเทศที่เป็นคู่กรณีกับจีน "จริงๆ" ไม่กล้าแหยมกับจีน

ดังนั้นในทัศนะของเฉียวเหลียง จีนควรจะตีศัตรูใกล้เพื่อให้ศัตรูไกลไม่กล้าเคลื่อนไหว

ทัศนะนี้ของเฉียวเหลียงเสนอไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะสวนทางกับทัศนะของเขาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่แนะว่าจีนควรจะโฟกัสที่สหรัฐในฐานะปฏิปักษ์หลัก

ตอนนั้นเขาบอกว่าจีนกำลังถูกรุมจากสหรัฐและไต้หวัน ดังนั้น “เมื่อคุณกำลังเผชิญหน้ากับแก๊งในการต่อสู้คุณต้องกำจัดคนที่ใหญ่ที่สุดก่อนและฝ่ายตรงข้ามคนอื่นๆ ก็จะหงอไปเอง”

จะเห็นได้ว่าทัศนะนี้คล้ายกับที่เขาเสนอเรื่องการทำศึกกับอินเดีย นั่นคือการทำสงครามเผด็จศึกกับเป้าหมายเป็นรายๆ ไปเพื่อทำให้ "พวกศัตรู" เกรงขาม

สิ่งที่ต่างกันคือ ตอนแรกเขาเสนอให้ล้มยักษ์เลยคือสหรัฐ แต่ต่อมาเสนอให้ทำสงครามสเกลย่อมๆ กับอินเดียไปก่อน คาดว่าที่เขาเปลี่ยนท่าทีก็เพราะหลังจากนั้นจีนมีเรื่องกับอินเดีย และจีนมีเป้าหมายเฉพาะหน้าที่อันตรายกว่า เพราะมีพรมแดนติดกับอินเดียหลายพันไมล์

แต่คำแนะนำของเฉียวเหลียงไม่ใช่จุดยืนของรัฐบาลจีน มันเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น (แม้ว่าการที่จีนจะเคลียร์กับอินเดียได้ มีคำสั่งให้ทหารตามแนวชายแดนพร้อมเพิ่มระดับการเผชิญหน้าสูงสุดเป็นอันดับสอง)

คนจีนไม่ได้ชิงชังสหรัฐถึงขนาดจะฆ่าจะแกงทุกทีที่มีปัญหา ยิ่งกับไต้หวันแล้วจีนยากที่ลงมืออย่างรุนแรง

แม้ว่าสีจิ้นผิงจะมีท่าทีค่อนข้างแข็งกร้าวแต่เป็นเพราะได้รับการกระตุ้นเร้าจากสหรัฐเป็นสำคัญ ท่าทีแข็งกร้าวกับสหรัฐพลอยทำให้จีนกร้าวกับประเทศอื่นๆ ไปด้วย

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับสหรัฐตั้งแต่ยุคก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใหม่ๆ ในยุคนั้นสหรัฐกับจีนเป็นศัตรูที่ยืนอยู่คนละขั้ว เหมือนยน้ำกับน้ำมันไม่อาจรวมกันได้

ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันในสงครามเกาหลี และในสงครามนั้นเหมาเจ๋อตง ผู้นำสูงสุดของจีนยังส่งลูกชายไปรบด้วย จนเสียชีวิตในสมรภูมิเกาหลี

แม้จะเสียลูกชายไปในสงครามกับพวกอเมริกัน แต่ผู้เขียนคิดว่าเหมาเจ๋อตงก็น่าจะเป็นเป็นพวกนิยมอเมริกันอยู่ลึกๆ

วิธีคิดของเหมาเจ๋อตงเป็นอย่างนี้ จีนต้องมองศัตรูใกล้คือ ญี่ปุ่น อินเดีย และรัสเซีย กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นไม่เบื่อไม้เมากับจีนมาโดยตลอด ญี่ปุ่นนั่นเป็นแค้นฝังหุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลก อินเดียมีปัญหาชายแดนที่ไม่มีวันจบสิ้น และรัสเซียเป็นจำพวกที่ไว้ใจได้ยาก แต่ต้องคบกันไปเพื่อถ่วงดุลทางการทูต

เหมาบอกว่าจะสู้กับศัตรูใกล้ต้องใช้วิธีของบรรพบุรุษ คือต้องไปสร้างแนวร่วมที่ไกลตัวออกไปเพื่อให้โอบล้อมเข้ามา วิธีนี้เป็นยุทธศิลป์สร้างพันธมิตรแนวดิ่งแนวนอนในยุครณรัฐ (หรือจ้านกว๋อ ราวๆ 481- 221 ปีก่อนคริสตกาล) ต้องใช้พวกสำนักวิชาทูต ปากเป็นเอกเลขเป็นโท ประสานผลประโยชน์เก่ง เกลี้ยกล่อมให้มิตรไกลมาช่วยล้อมศัตรูใกล้แบบแนบเนียน

มิตรไกลของเหมาเจ๋อตงคือสหรัฐ ที่เขาดึงเข้ามาช่วยยันโซเวียตที่เหมาเริ่มเห็นแล้วว่าพึ่งไม่ได้และยังจ้องจะตะครุบจีนด้วย สาเหตุหนึ่งที่จีนแตกหักกับโซเวียตเพราะฝ่ายนั้นต้องการสร้างแนวร่วมป้องกันเอเชียคล้ายๆ สนธิสัญญาวอร์ซอ

แต่จีนสงสัยว่าไอ้เจ้าแนวร่วมนี้มันไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันเอเชียจากอเมริกัน แต่เพื่อล้อมจีนเสียมากกว่าโดยมีมอสโกเป็นคันเบ็ดส่วนให้เวียดนามเป็นตะขอเบ็ดช่วยกันเกี่ยวจีน

ตอนนั้นจีนช่วยเวียดนามถล่มสหรัฐ แต่หลังจากสะบั้นรักกับโซเวียต ไม่นานจีนหันไปถล่มเวียดนามเสียเอง และยังมีการเจรจาเพื่อเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศอีกครั้งโดยมี คิสซิงเจอร์ อุตส่าห์แอบเข้ามาคุยถึงจีน หลังจากนั้นเหมือนเปิดก๊อก นานาประเทศแห่กันมาคบหาจีน รวมถึงไทยด้วย

ตอนนี้ภาพคล้ายกับเมื่อหลายทศวรรษก่อน รัสเซียกับจีน "ผูกเสี่ยว" เป็นพันธมิตรกันและมีท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐเหมือนกัน

แต่ก็เหมือนกับช่วงสงครามมเย็น ขณะที่จีนคบรัสเซียเพื่อหวังเป็นแนวร่วม รัสเซียยังคงขายอาวุธให้อินเดียและยังมีความสัมพันธืที่ดีกับอินเดียมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

ส่วนญี่ปุ่นที่ผ่านกฎหมายให้ทหารไปรบต่างประเทศได้และพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีกองทัพได้อีกครั้ง จีนยิ่งมองญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคาม

ส่วนเวียดนามกำลังหาแนวร่วมสู้จีนที่มาฮุบเกาะทะเลจีนใต้ ถึงขนาดไปคบหาศัตรูเก่าอย่างสหรัฐ (รายนี้ใช้ยุทธศาสตร์แบบจีน) สองประเทศนี้ท่าทางจะคุยกันลำบาก

สักสามสี่ปีก่อน จีนพยายามยืนยันกับสหรัฐว่าเราไม่ใช่ภัยคุกคามกันและกัน และในสภาพเศรษฐกิจโลกอย่างนี้อย่ามาแลกหมัดกันเลย ค้าขายกันจะดีกว่า ส่วนประเทศในเครืออำนาจที่ฮึ่มๆ กันก็ช่วยปรามๆ แล้วแก้ไขไปทีละเปราะน่าจะเข้าท่า

ยุทธศาสตร์การค้านำการรบนี่สำคัญมาก เหมาเจ๋อตงก็เคยเปรยไว้ก่อนจะคบอเมริกันจริงๆ จังๆว่า ลูกหม้อสำคัญของอเมริกาคือเกาหลีใต้ คนเกาหลีนั้นชอบกินเผ็ด ส่วนจีนก็ผลิตพริกได้มากมายมหาศาล หากเลิกเผชิญหน้ากันได้จะได้ช่วยกันค้าขาย ฝ่ายหนึ่งกินพริกฝ่ายหนึ่งค้าพริกต่างก็วินวิน และการค้าพริกของจีนกับเกาหลีใต้เป็นแผนหนึ่งในการเขยิบเข้าไปหาสหรัฐเมื่อ 40 กว่าก่อนด้วย

แต่สถานกาณ์เมื่อสามสี่ปีก่อนต่างกันมาก ไม่กี่ปีมานี้สหรัฐปิดตายประตูมิตรภาพกับจีนด้วยการทำสงครามการค้า ทำให้จีนแทบไม่เหลือช่องทางที่จะคงความเป็นมิตรเอาไว้ ส่วนเกาหลีใต้นั้นแสดงออกว่า "ไม่เอาจีน" มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อประตูการค้าถูกปิดตาย ศัตรูไกลที่จีนพยายามเลี่ยงก็กลายเป็นศัตรูใกล้ไปโดยปริยาย

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

AFP PHOTO / Anthony WALLACE