posttoday

คำทำนายของมหาเศรษฐีผู้รู้อนาคตเหมือนตาเห็น

20 เมษายน 2563

โรคระบาดใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ แต่โรคระบาดครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเราไปตลอดกาล

หลายสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้จัดพอดแคสต์เรื่องคำเตือนของบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ที่บอกให้ชาวโลกระมัดระวังการระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้

ดูเหมือนว่าหลังจากนั้นปาฐกถาของบิล เกตส์ได้รับความสนใจมากขึ้นและตัวเขาเองก็ออกมาพูดเรื่องไวรัสมากขึ้นเช่นกันจนสื่อบางแห่งยกย่องเขาเป็น "ผู้นำ" ในการต่อสู้กับโควิด-19

องค์ประกอบหนึ่งของความเป็นผู้นำคือ "การมีวิสัยทัศน์" ในเรื่องธุรกิจ เราไม่ต้องสงสัยบิล เกตส์ในเรื่องนี้ แต่ใครจะรู้ว่าเรามองขาดมาตั้งหลายปีแล้วว่าโรคระบาดใหญ่จะเกิดขึ้นอีก

ในการสัมภาษณ์กับ Vox เมื่อปี 2015 เขาถึงกับบอกว่า “ผมให้สกอร์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงชีวิตของผมมากกว่า 50%”

หมายความว่าก่อนที่เขาจะตายมันมีโอกาส 50% ที่จะเกิดการระบาดใหญ่

ถ้าเป็นตอนนั้นเราคงฟังแล้วเฉย หรืออาจะยิ้มเยาะ แต่ตอนนี้คงยิ้มไม่ออก

เขายังมองอนาคตเหมือนตาเห็นว่า โรคระบาดครั้งต่อไปจะกระจายตัวอย่างรวดเร็วเพราะการคมนาคมขนส่งที่ฉับไวในเวลาไม่กี่วันเขตเมืองทั่วโลกจะติดโรคระบาด

แม่นเหมือนตาเห็น!

เขาบอกว่าเพราะเรามั่นอกมั่นใจเกินไปว่าการสาธารณสุขของเราทันสมัย ไม่เหมือนกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 100 กว่าปีก่อนที่คนตายไปหลายสิบหรืออาจจะนับร้อยล้าน

ตอนนี้ระบบสาธารณสุขของเราทันสมัยมากกว่าก็จริง คนตายน้อยกว่าก็จริง แต่เราก็ยังเพลี่ยงพล้ำกับมันอยู่ดี ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ต้องปิดเมือง และหยุดทุกอย่างเพื่อสู้กันไวรัส

ย้อนกลับไปในปาฐกถา TED Talks เมื่อปี 2015 บิล เกตส์จั่วหัวเรื่องเอาไว้ว่า The next outbreak? We’re not ready แปลแบบตรงไปตรงมาว่า "การระบาดครั้งต่อไปน่ะหรือ? เรายังไม่พร้อม"

ในปาฐกถาครั้งนั้นบิล เกตส์ บอกว่า

"หากมีผู้เสียชีวิตกว่า 10 ล้านคนในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า มันน่าจะเป็นไวรัสที่ติดเชื้อได้สูงมากกว่าสงครามไม่ใช่ขีปนาวุธ แต่เป็นจุลินทรีย์"

"ส่วนหนึ่งของเหตุผลสำหรับเรื่องนี้ก็คือ เราลงทุนจำนวนมากในการยับยั้งนิวเคลียร์ แต่จริง ๆ แล้วเราลงทุนน้อยมากในระบบเพื่อหยุดการแพร่ระบาด เราไม่พร้อมสำหรับการแพร่ระบาดครั้งต่อไป"

"เราไม่มีทีมแพทย์ที่พร้อมจะปฏิบัติงาน เราไม่มีวิธีเตรียมคน ... และการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จะทำให้เราต้องมีเจ้าหน้าที่แพทย์หลายแสนคน"

อย่าลืมว่านั่นคือปาฐกถาเมื่อ 5 ปีที่แล้วก่อนที่โลกจะพบกับการระบาดทั่วตามคำพยากรณ์ของเขา และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ทีมสาธารณสุขงานล้นมือจนรับไม่ไหวแล้ว

เขาพูดหลังจากการระบาดของอีโบลาซึ่งควบคุมเอาไว้ได้ด้วยการทำงานอย่างแข็งขันของทีมแพทย์ แต่เขายังเตือนว่า "ครั้งต่อไปเราอาจจะไม่โชคดีแบบนี้" เพราะอีโบลาไม่ได้ติดต่อทางอากาศ และมันไม่ได้กระจายเข้ามาในเขตเมือง

แต่ตอนนี้โควิด-19 มีพาหะทั่วไปหมดแถมยังเริ่มระบาดในเขตเมืองใหญ่

แต่บิล เกตส์ไม่ใช่หมอดู เขาเป็นแค่คนหลายๆ คนที่เตือนมาตลอดว่าโลกของเราจะต้องพบกับการระบาดใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน คำเตือนนี้เกิดขึ้นถี่ในช่วงหลังการระบาดของโรคซาส์จบไปหมาด แต่หลังจากนั้นมีคนพูดถึงน้อยลงทุกทีๆ

แต่ความกลัวเรื่องการระบาดใหญ่อยู่ในใจของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด มันไม่หายไปไหน คำเตือนมาเป็นระยะ เชื่อหรือไม่ว่าคำเตือนล่าสุดเผยแพร่ออกมาก่อนที่โควิด-19 จะถูกพบที่จีนแค่เดือนเดียว

ไม่น่าเชื่อใช่ไหม? สำหรับเรามันอาจจะดูบังเอิญเกินไป แต่สำหรับคนที่จับตาเรื่องนี้มาตลอดมันเป็นแค่เรื่องที่คาดเดาเอาไว้แล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดบางคนมองเห็นเหมือนบิล เกตส์คือเราทุ่มงบประมาณไปกับอาวุธมากกว่าอุปกรณ์การแพทย์

แม็กซ์ เจ. สกิดมอร์ (Max J. Skidmore) ผู้เขียนหนังสือ Presidents, Pandemics, and Politics บอกว่า "อเมริกาใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อป้องกันการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่สิ่งที่ไม่เหมาะสมคือประเทศใช้เวลาค่อนข้างน้อยในการรับกับการระบาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้"

สกิดมอร์ บอกว่ามีตัวอย่างความดื้อรั้นของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันต่อการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 เขาไม่สนใจคำแนะจากที่ปรึกษาทางการแพทย์ เขาปฏิเสธที่จะหยุดการจัดส่งทหารไปต่างประเทศเพื่อต่อสู้ในมหาสงคราม ซึ่งส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากมีทหารจำนวนมากกักขังอยู่ในที่พักเล็กๆ

ความเห็นแก่สงครามของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันทำให้ไข้หวัดสเปนแพร่จากสหรัฐไปยุโรปจากยุโรปแพร่ไปทั่วโลกในที่สุด

ไม่ใช่ว่าการปกป้องประเทศไม่สำคัญ แต่การระบาดของโควิด-19 บอกกับเราว่าการป้องกันชีวิตจากโรคระบาดที่เราไม่รู้จักมาก่อนสำคัญพอๆ กันและอาจจะมากว่าด้วยซ้ำหลังจากการระบาดครั้งนี้

ความขัดแย้งระหว่างประเทศยังสามารถเจรจากันได้เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ แต่เราไม่สามารถเจรจาต่อรองกับไวรัสได้

บิล เกตส์บอกว่า บทเรียนที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้วิธีการเตรียมตัว เขาเป็นคนแรกๆ ที่เร่งให้รัฐบาลสหรัฐใช้นโยบายป้องกันที่เข้มข้นขึ้น และเขาไม่ได้ช่วยแต่พูด แต่ยังบริจาคเงินหลายร้อยล้านให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อป้องกันโรคและเมื่อโรคเกิดขึ้นแล้วยังบริจาคเพื่อเพื่อช่วยตรวจโรคและทำการรักษา

บิล เกตส์คือตัวอย่างของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้พูดอย่างเดียวแต่ทำด้วย แม้เรื่องที่พูดออกมาก็สมเหตุสมผลและเป็นปฏิบัตินิยม

ในปี 2015 เขาบอกว่า

"สิ่งที่เราทำในสงคราม ในส่วนของทหาร เรามีประจำการเต็มเวลารอที่จะลุย เรามีกำลังพลสำรองที่สามารถเพิ่มกำลังพลของเราจำนวนมหาศาล นาโต้มีหน่วยเคลื่อนที่ที่สามารถปรับใช้อย่างรวดเร็วนาโต้มีการซ้อมรบมากมายเพื่อตรวจสอบกำลังคนว่าได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีหรือไม่?"

ตอนนี้อาจจะสายไปแล้วเพราะโรคระบาดที่บิล เกตส์ทำนายไว้กำลังเกิดขึ้น แต่ในตอนนั้นเขาแนะนำว่าเราต้องทำแบบจำลอง เป็นการซ้อมรับมือเชื้อโรคไม่ใช่การซ้อมรบเพื่อให้เราเห็นว่าช่องโหว่อยู่ที่ไหน

ครั้งล่าสุดที่มีการซ้อมรบกับเชื้อโรคในสหรัฐเมื่อปี 2001 ผลออกมาคือเราแพ้

ธนาคารโลกประเมินว่าหากเรามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก ความมั่งคั่งทั่วโลกจะลดลงกว่าสามล้านล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน

คำเตือนของบิล เกตส์เป็นจริงแล้ว การประเมินของธนาคารโลกจะเป็นจริงหรือไม่?

แต่บิล เกตส์ยังมีอีกคำทำนายหนึ่ง การระบาดของโควิด-19 จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเราไปตลอดกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานแบบเสมือนจริง หรือ virtual อะไรต่างๆ นานา

ที่บริษัทไมโครซอฟต์ประชุมผู้ถือหุ้นแบบ virtual มาตั้งแต่ก่อนการระบาดแล้ว และในตอนนี้หลายบริษัทเริ่มทำตาม เขาเริ่มสงสัยว่าหลังสิ้นสุดการระบาดแล้วจะมีการเรียกประชุมกันแบบตัวเป็นๆ หรือไม่

นี่เป็นเพียงมุมหนึ่งของการคาดการณ์เท่านั้น ยังมีอีกบางแง่มุมที่เขาเตือนไว้แต่ยังไม่อาจฟันธงได้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ เช่นเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจที่เคยคึกคัก ก็อาจจะไม่เป็นเหมือนเดิม

นอกจากนี้เขายังทำนายว่าหลังจากนี้จะไม่เกิดการระบาดใหญ่ในสเกลเท่ากับโควิด-19  เพราะทั่วโลกมีประสบการณ์แล้วและอัดฉีดเงินเพื่อการแพทย์ที่จะช่วยป้องกันหายนะแบบที่กำลังจะเกิดขึ้นแบบนี้

คำทำนายของเขาอาจจะไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูแล้ว รู้สึกว่าคำทำนายของเขามันจะเป็นจริงมากว่าไม่จริง

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by SAM PANTHAKY / AFP