posttoday

การแจกเงินคือวิธีช่วยผู้ประสบภัยที่ดีกว่าแจกของ ชี้ช่วยทำให้มั่นใจในชีวิต

18 กันยายน 2562

ในเมื่อผู้ประสบภัยต้องการเงินมากขึ้น แล้วทำไมเราถึงยังให้ถุงยังชีพกับพวกเขาอยู่อีก

 

ในเวลานี้ประเทศไทยกำลังระดมความช่วยเหลือให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันมาก คือความช่วยเหลือควรจะเป็นสิ่งของหรือตัวเงิน? หลังจากที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางท่านแสดงความเห็นในทำนองว่าการแจกเงินไม่เพียงพอ แต่ภาคเอกชนบางส่วนใช้วิธีการแจกเงินให้ผู้ประสบภัย

ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงในองค์กรด้านมนุษยชนระดับโกลเช่นกัน และองค์กรใหญ่ๆ ในสังกัดสหประชาชาติก็ชี้ว่า การให้เงินผู้ประสบภัยเป็นวิธีที่ดีกว่า และองค์การให้ความช่วยเหลือเริ่มที่จะให้เงินแทนสิ่งของกันมากขึ้น

ตัวเลขจากปี 2004 การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงมีสัดส่วนแค่ 1% จากการรายงานของ The Guardian พอถึงปี 2016 เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย 6% แม้จะยังถือว่าน้อยมาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แม้แต่ในวิกฤตอดอยากที่โซมาเลียเมื่อปี 2011 หน่วยงานช่วยเหลือยังให้เงินผู้ประสบภัยโดยตรงถึง 1.5 ล้านคน อย่าลืมว่าโซมาเลียเป็นดินแดนที่ทุรกันดาร หาซื้อสิ่งของได้ยาก แต่หน่วยงานช่วยเหลืก็ยังใช้วิธีแจกเงิน ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นว่าการให้เงินน่าจะมีประสิทธิภาพกว่าการให้สิ่งของ เช่น ผู้ประสบภัยสามรถเลือกซื้อสิ่งของที่ตัวเองต้องการได้ ทนที่จะรับของที่พวกเขาอาจมีอยู่แล้วหรือเป็นของที่ไม่มีประโยชน์สำหรับพวกเขา

อีกหนึ่งสาเหตุที่ผู้ประสบภัยเลือกที่จะรับเงินแทนของช่วยเหลือ คือความรู้สึกมีศักดิ์ศรี เพราะเงินทำให้พวกเขาตัดสินใจด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่นั่งรอของช่วยเหลืออย่างเดียว (ซึ่งบางครั้งอาจไม่ช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นมากนัก)

ในรายงานของสถาบันการพัฒนาโพ้นทะเล (ODI) ซึ่งเป็นองค์การที่ปรึกษาด้านการพัฒนาในประเทศอังกฤษ ระบุว่า การโอนเงินให้ผู้ที่ประสบกับความยากลำบากเป็นวิธีที่จะทำให้พวกเขารู้สึกมีศักดิ์ศรีมากขึ้น

รายงานยกตัวอย่างว่า "ในทุกประเทศ ผู้รับความช่วยเหลือ ต่างก็พูดถึงการโอนเงินว่า ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความมั่นใจในตนเอง มีศักดิ์ศรี และกล้าแสดงออกมากขึ้น ในเคนยา เด็กกำพร้าและเด็กที่มีความเปราะบาง รู้สึกว่า หลังจากมีเสื้อผ้าดีๆ สวมใส่ มีอาหารกิน และเมื่อไปโรงเรียนแล้ว พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมกับเพื่อนๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน และสามารถพูดคุยด้วยความมั่นใจเกี่ยวกับอนาคตของตน ในทำนองเดียวกัน ผู้พิการในโมซัมบิกรู้สึกว่าการโอนเงินสดช่วยฟื้นฟูศักดิ์ศรีของพวกเขา โดยทำให้พวกเขาพึ่งพาผู้อื่นน้อยลง"

ODI ยังบอกด้วยว่า ความมั่นใจและศักดิ์ศรีของผู้ประสบกับความลำบากในชีวิตเพิ่มขึ้นมา หลังจากได้รับความช่วยเหลือด้วยเงินสด ทำให้พวกเขารู้สึกมีความมั่นคงในชีวิต และสามารถบริหารชีวิตตัวเองได้มากขึ้น มีอิสรภาพในทางการเงินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การให้เงินสดมีข้อเสียเช่นกัน จากโครงการโอนเงินสดของ ODI พบว่า บางพื้นที่แทนที่จะรู้สึกมีศักดิ์ศรีมากขึ้น กลับรู้สึกเหมือนโดนดูถูก บางคนถูกโจมตีว่าเป็นเหมือนขอทาน (กรณีนี้เกิดขึ้นในเขตเวสต์แบงก์) บางคนไม่ขยันขันแข็ง เอาแต่รอรับความช่วยเหลือ ในชุมชนเกิดความขัดแย้งเพราะบางคนอาจไม่ได้รับเงิน

ในเมื่อผู้ประสบภัยต้องการเงินมากขึ้น แล้วทำไมเราถึงยังให้ถุงยังชีพกับพวกเขาอยู่อีก? คำถามนี้อยู่ในบทความชื่อเดียวกันของสำนักข่าว Vox Rachel Sugar แห่ง Vox ตั้งคำถามว่า ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต้องการเงิน แล้วทำไมเรายังถึงใช้เครื่องกระป๋องอยู่อีก?

ผู้เขียนชี้ว่า เครื่องกระป๋อง (หรือในกรณีของไทยคือของแห้งและถุงยังชีพ ต้องใช้เวลานานในการซื้อหา จัดประเภท จัดส่ง แต่เมื่อส่งถึงมือแล้ว ผู้ประาสบภัยแทบไม่ได้ใช้ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ Center For High Impact Philanthropy แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียบอกว่า เครื่องกระป๋องที่ได้รับบริจาคมากครึ่งหนึ่งไม่เคยถูกใช้เลย

ดังนั้นบางทีการให้เงินน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หากเกิดภัยธรรมชาติในอนาคต

อ้างอิง

"Holding cash transfers to account: Beneficiary and community perspectives". transformingcashtransfers.org

"Cash transfers: only 6% of humanitarian spending – what’s the hold up?". (January 20, 2016). The Guardian.

"Why giving cash, not clothing, is usually best after disasters". (September 5, 2017). The Conversation.

"Relief efforts want money. So why do we insist on donating canned goods?" (November 15, 2018). Vox.