posttoday

ดิจิทัลทีวีประเทศอื่นราบรื่นหรือสะดุด ในยุคอินเทอร์เน็ตครองเมือง

11 พฤษภาคม 2562

ดิจิทัลทีวีของหลายประเทศถูกอินเทอร์เน็ตแย่งคนดูจนต้องปรับตัวกันขนานใหญ่

ดิจิทัลทีวีของหลายประเทศถูกอินเทอร์เน็ตแย่งคนดูจนต้องปรับตัวกันขนานใหญ่

จากกรณีที่บรรดาผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีแห่คืนใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลถึง 7 ช่อง จากเดิมที่มีทั้งหมด 22 ช่อง ทำให้ปัจจุบันเหลือผู้ประกอบการที่พร้อมเดินหน้าทั้งหมด 15 ช่อง ส่งผลให้บุคลากรในวงการสื่อสารมวลชนอาจจะต้องตกงานนับพันคน ทำให้ กสทช. ต้องออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการชุดใหญ่

ประเทศไทยเริ่มเปิดประมูลคลื่นดิจิทัลทีวีกันตั้งแต่ปลายปี 2013 เริ่มออกอากาศเมื่อช่วงต้นปี 2014 แต่ด้วยช่องดิจิทัลทีวีที่มีมากถึง 36 ช่องในช่วงเริ่มต้นทั้งที่จำนวนคนดูเท่าเดิม ประกอบกับรสนิยมคนดูเปลี่ยนไป ผู้คนหันไปเสพความบันเทิงจากช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้โฆษณาหดหาย ผู้ประกอบการดิจิทัลทีวีขาดทุน จนนำมาสู่การเรียกร้องขอคืนใบอนุญาต โดยมีเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล หรือ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ลุกขึ้นมาฟ้อง กสทช.เพื่อฉีกสัญญาก่อนใครเพื่อน

ในต่างประเทศ การเปลี่ยนผ่านจากแอนาล็อกทีวีมาสู่ดิจิทัลทีวีเริ่มขึ้นราวปี 2000 โดยมีเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่เปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลเต็มตัวพร้อมกันทั้งประเทศเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2006 จากกำหนดเดิมคือ 30 ต.ค. 2006 เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัว จากนั้นทั่วโลกก็ทยอยปรับเปลี่ยนตามมาอย่างต่อเนื่อง

ดิจิทัลทีวีประเทศอื่นราบรื่นหรือสะดุด ในยุคอินเทอร์เน็ตครองเมือง

การเปลี่ยนผ่านในเนเธอร์แลนด์แทบจะไม่มีการสะดุดเลย เพราะประชากรส่วนใหญ่รับชมโทรทัศน์ผ่านระบบเคเบิล มีเพียง 74,000 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 1.5% เท่านั้นที่รับชมโทรทัศน์ผ่านระบบเสาอากาศ โดยมีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียวและได้สัมปทาน 15 ปี คือบริษัท Digitenne กิจการร่วมค้าที่เกิดจากการรวมตัวกันของ Nozema บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ 51% และเริ่มบุกเบิกดิจิทัลทีวีของเนเธอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 1993 และบรรดาผู้ให้บริการโทรทัศน์ทั้งเอกชนและสาธารณะ โดยมีข้อตกลงว่าจะต้องแบ่งกำไรส่วนหนึ่งให้รัฐด้วย เพื่อให้บริษัทยังพอมีกำไรจูงใจให้เดินหน้าต่อ ส่วนรัฐก็ยังได้รับผลประโยชน์จากสัญญานี้

อย่างไรก็ดี ชาวเนเธอร์แลนด์กลับไม่ค่อยควักเงินสมัครใช้ดิจิทัลทีวี เนื่องจากส่วนใหญ่รับชมผ่านเคเบิลซึ่งมีรายการต่างๆ ให้เลือกมากกว่าในราคาที่ใกล้เคียงกัน และดิจิทัลทีวียังต้องแข่งกับทีวีดาวเทียมที่มีค่าสมาชิกถูกกว่าด้วย จึงต้องรุกทำการตลาดอย่างหนักหน่วงและลดราคาค่าสมาชิกในช่วงแรก

ส่วนกรุงเบอร์ลินของเยอรมนีเป็นเมืองแห่งแรกของโลกที่ยกเลิกการใช้ระบบแอนาล็อกเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2003 และเปลี่ยนครบทั้งประเทศเมื่อ 2 ธ.ค. 2008 โดยรัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือค่ากล่องรับสัญญาณแก่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย จากรายงานเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลประจำปี 2016 ของหน่วยงานสื่อของเยอรมันพบว่า ชาวเยอรมันหันมาใช้ดิจิทัลทีวีเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน หรือคิดเป็น 92.3% ของทั้งหมด

ดิจิทัลทีวีประเทศอื่นราบรื่นหรือสะดุด ในยุคอินเทอร์เน็ตครองเมือง ตัวอย่างคูปองสนับสนุนค่ากล่องสัญญาณดิจิทัลทีวีมูลค่า 40 เหรียญสหรัฐของรัฐบาลสหรัฐ ภาพ : วิกิพีเดีย

มหาอำนาจอย่างสหรัฐเข้าสู่ยุดิจิทัลทีวีอย่างเต็มตัวในเดือน มิ.ย. 2009 หลังจากเจอโรคเลื่อน เพราะยังมีบางครัวเรือนที่ยังไม่ได้รับคูปองเงินช่วยเหลือค่ากล่องสัญญาณจากรัฐ แต่หลังจากเปลี่ยนผ่านก็มีปัญญาตามมาเป็นโขยง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดแรงจูงใจในการซื้อกล่องสัญญาณ เพราะมีช่องรายการให้เลือกชมน้อย ส่วนผู้ให้บริการออกอากาศก็ไม่อยากลงทุน เพราะไม่มีคนดู ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่สายป่านสั่นต้องปรับตัวกันอย่างหนักจนรัฐบาลต้องเข้ามาอุ้ม

ส่วนญี่ปุ่นบอกลาแอนาล็อกทีวีเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2011 หลังจากใช้มา 58 ปี ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทีวี ญี่ปุ่นประกาศแผนนี้ตั้งแต่ปี 1998 ระหว่างนี้ก็มีการทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเริ่มออกอากาศในระบบดิจิทัลในหัวเมืองหลักเมื่อ 1 ธ.ค. 2003 จนครบในอีก 3 ปีต่อมา ยกเว้นในพื้นที่ จ.อิวาเตะ มิยะงิ และฟุกุชิมะ ที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ที่ได้รับยกเว้นให้ยุติการออกอากาศระบบแอนาล็อกภายในวันที่ 31 มี.ค. 2012

ทว่าดิจิทัลทีวีของญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาเดียวกับไทย คือความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ถูกดึงไปที่อินเทอร์เน็ตแทนที่จะเป็นโทรทัศน์ซึ่งเป็นช่องทางการเสพความบันเทิงแบบดั้งเดิม แต่ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ 

ทั้งนี้ ในประเทศอื่น เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น รัฐบาลมีการแจกคลื่นความถี่ฟรี เพราะมองว่าสื่อมีบทบาทสำคัญต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน แต่ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่เปิดประมูลดิจิทัลทีวี เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ความถี่ต้องประมูลเท่านั้น

เมื่อผู้ประกอบการต้องควักเงินลงทุนสูง โอกาสทำกำไรในยุคที่อินเทอร์เน็ตครองเมืองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย สุดท้ายแรงจูงใจของผู้ประกอบการก็ค่อยๆ หายไป จึงเกิดอาการถอดใจไม่ไปต่อ ขอคืนใบอนุญาตเป็นทิวแถว