posttoday

คนไทยต้องรู้ ต่างชาติยุ่งการเลือกตั้งต่างประเทศได้แค่ไหน?

09 เมษายน 2562

แม้กฎหมายระหว่างประเทศอาจไม่มีข้อบังคับ แต่ตามกติกามารยาทสากล ทูตหรือตัวแทนชาติต่างๆ จะเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศที่ตัวเองพำนักอยู่ไม่ได้

แม้กฎหมายระหว่างประเทศอาจไม่มีข้อบังคับ แต่ตามกติกามารยาทสากล ทูตหรือตัวแทนชาติต่างๆ จะเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศที่ตัวเองพำนักอยู่ไม่ได้

*****************************

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่สถานทูตโดยเฉพาะประเทศตะวันตก เพื่อเข้าสังเกตการณ์ในการรับทราบข้อกล่าวหาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดวิวาทะในวงกว้างถึงความเหมาะสม และเกิดปัญหาถกเถียงกันถึงขอบเขตที่ตัวแทนประเทศต่างๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของไทย จนทำให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย ต้องออกมาติติงตัวแทนของชาติต่างๆ ที่ไปปรากฏตัวพร้อมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจในวันนั้น

คนไทยต้องรู้ ต่างชาติยุ่งการเลือกตั้งต่างประเทศได้แค่ไหน?

คำถามก็คือ ผู้แทนคณะทูตมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวหรือไม่?

แม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศอาจจะไม่มีการบังคับใช้เรื่องนี้ แต่ตามกติกามารยาทสากล ทูตหรือตัวแทนชาติต่างๆ จะเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศที่ตัวเองพำนักอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ตัวแทนของประเทศหนึ่งๆ มักจะอ้างสิทธิในการเข้าสังเกตการณ์กิจการภายในเพื่อรับทราบข้อมูล

แต่การสังเกตการณ์ก็มีขอบเขต หากมีลักษณะที่เป็นภัยคุกคามหรือเป็นการกระทำที่เสียมารยาททางการทูต ประเทศเจ้าบ้านก็อาจเรียกทูตมาชี้แจง ตำหนิ หรือกระทั่งระบุให้เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา (persona non grata) ได้ เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 รัฐบาลเวเนซุเอลา สั่งขับทูตสหรัฐ 2 คนในฐานะบุคคลไม่พึงปรารถนา ฐานแทรกแซงการเลือกตั้ง

เมื่อเดือนมิถุยายน 2018 รัฐบาลตุรกีปฏิเสธไม่ให้ทูตจากประเทศตะวันตก 24 คน จาก 11 ประเทศสังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีบีนาลี ยิลดริม กล่าวว่า ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติบางคนมีพฤติกรรมเหมือนโฆษกของกลุ่มหัวรุนแรงทางการเมือง และผู้สังเกตการณ์ควรปฏิบัติตนให้เหมาะสมและไม่ควรแทรกแซงการเมือง

คนไทยต้องรู้ ต่างชาติยุ่งการเลือกตั้งต่างประเทศได้แค่ไหน?

อย่างไรก็ตาม การกีดกันผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติ อาจเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลอำนาจนิยมหรือฝ่ายเผด็จการปกปิดความจริงบางอย่างไม่ให้โลกภายนอกทราบได้ และมีนักวิชาการชี้ว่า การสังเกตการณ์มีส่วนส่งเสริมประชาธิปไตย มิใช่การบ่อนทำลายอธิปไตยของประเทศนั้นๆ เช่น การศึกษาของ Guy Cyrille Tapoko ในบทความชื่อ election observation and the question of state sovereignty in Africa

แม้ว่าการสังเกตการณ์การเลือกตั้งหรือคดีการเมืองจะเป็นสิทธิ์ของผู้แทนประเทศ แต่เจ้าของประเทศจะต้องตระหนักว่า ประเทศตะวันตกมักแทรกแซงกาารเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์บางอย่างมาช้านาน และเจ้าของประเทศต้องตระหนักว่าเจตนาของการเข้าสังเกตการณ์คืออะไร

จากการศึกษาโดย Jonathan J. Godinez แห่งมหาวิทยาลัย Western Governors University พบว่า สหรัฐอเมริกามีประวัติการแทรกแซงการเลือกตั้งต่างประเทศอย่างมากมาย เริ่มต้นในปี 1947 ด้วยการก่อตั้งสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ตั้งแต่นั้นมาสหรัฐได้เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งทั่วโลกมากถึง 81 ครั้ง ส่วนรัสเซียแทรกแซงทั้งหมด 36 ครั้ง ระหว่างปี 1946 - 2000

คนไทยต้องรู้ ต่างชาติยุ่งการเลือกตั้งต่างประเทศได้แค่ไหน?

ส่วนสาเหตุที่มีการแทรกแซงการเลือกตั้ง คือ

1.เพื่อผลประโยชน์ดีขึ้นหรือความเป็นอยู่ที่ดีของชาวโลกโดยรวม หรือ globally-motivated intervention แปลว่า การแทรกแซงโดยมีแรงขับเคลื่อนจากผลกระทบต่อโลกโดยรวม (เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตยหรือเสถียรภาพในภูมิภาค)

2.การแทรกแซงการเลือกตั้งของประเทศอื่นเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์และความอยู่ดีกินดีของประเทศที่ยื่นมือแทรกแซง หรือ self-motivated intervention แปลว่า การแทรกแซงโดยมีแรงผลักดันจากผลประโยชน์ของตัวเอง

Stephen Shulman และ Stephen Bloom ทำการศึกษาลักษณะการแทรกแซงการเลือกตั้งของต่างชาติ และเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Review of International Studies พบว่า

1.แทรกแซงผ่าน NGO โดยให้องค์กรเหล่านี้เคลื่อนไหวแทนตน ในการสร้างกระแส และปลุกเร้าประชาชนในประเทศเป้าหมาย

2.แทรกแซงผ่านพรรคการเมือง หรือแทรกแซงผ่านกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยให้การสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ส่วนงานวิจัยของ Daniel Corstange และ Nikolay Marinov ระบุว่า การแทรกแซงมี 2 ประเภท คือ

1.การแทรกแซงพรรคการเมือง (partisan intervention) ซึ่งประเทศมหาอำนาจแสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

2.การกแทรกแซงกระบวนการ (process intervention) ซึ่งประเทศมหาอำนาจแสดงการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะการเลือกตั้ง

ดังนั้น โดยสรุปก็คือ ต่างชาติมีแนวโน้มที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งด้วยวิธีการ 2 แบบ คือ แทรกแซงผ่านกลุ่มการเมืองหรือ NGO และแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง