posttoday

ธุรกิจไมซ์ดันไทย ศูนย์กลางอาเซียน

02 มกราคม 2562

ธุรกิจการจัดประชุม หรืออุตสาหกรรม ไมซ์ ในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์

เรื่อง อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

ธุรกิจการจัดประชุม หรืออุตสาหกรรมไมซ์ ในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อและเข้าถึงตลาดอาเซียน เป็นผลจากการผลักดันของรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ธุรกิจไมซ์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สิ่งที่สะท้อนการเติบโตในอุตสาหกรรม ไมซ์ได้เป็นอย่างดี คือยอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจไมซ์ โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจการจัดประชุมช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) 2561 มีจำนวน 327 ราย เพิ่มขึ้นถึง 32.82% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนช่วง 10 เดือน ของปี 2561 มูลค่า 384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.59% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560

นอกจากนี้ หากประเมินในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจไมซ์มียอดรวมทั้งจำนวน มูลค่า และจำนวนคนเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนการจัดประชุมในปี 2558 มีจำนวน 2,764 ครั้ง ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 2,829 ครั้ง ปี 2560 เพิ่มเป็น 2,855 ครั้ง และปี 2561 มีจำนวน 3,248 ครั้ง ในแง่ของมูลค่ารายได้ของการจัดงาน พบว่า ปี 2558 มีมูลค่า 2.83 หมื่นล้านบาท ปี 2559 ลดลงเหลือ 2.34 หมื่นล้านบาท ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 2.67 หมื่นล้านบาท และปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 3.04 หมื่นล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้เข้าร่วมงาน ปี 2558 มีจำนวน 2.62 แสนคน ปี 2559 มีจำนวน 2.58 แสนคน ปี 2560 มีจำนวน 2.59 แสนคน ส่วนปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 3.35 แสนคน

จากข้อมูลดังกล่าว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ว่า แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจัดประชุมจะไม่เพิ่มสูงเท่ากับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมย่อมส่งผลต่อมูลค่ารายได้กับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การจัดเลี้ยง โรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว แหล่งช็อปปิ้ง สถานบริการและความงามสปา โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปของผู้เดินทางในกลุ่มธุรกิจไมซ์ในปี 2561อยู่ที่ 7.61 หมื่นบาท/คน ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

สำหรับธุรกิจการจัดประชุมที่ดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 31 ต.ค. 2561 พบว่ามีจำนวน 2,809 ราย คิดเป็น 0.39% ของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 8,810 ล้านบาท คิดเป็น 0.05% ของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด โดยธุรกิจส่วนใหญ่เป็นรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 2,377 ราย คิดเป็น 85% มีมูลค่าทุน 8,537 ล้านบาท คิดเป็น 96.90% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สูงถึง 97.44% และเป็นการจัดตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ 1,576 ราย มูลค่าทุน 6,940 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่นและเป็นศูนย์กลางการค้าและการเชื่อมโยงทางคมนาคมที่สะดวก

ขณะที่จังหวัดที่ประกอบธุรกิจการจัดประชุมรองลงมา คือ จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่น และเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการค้าและการเชื่อมโยงคมนาคมที่สะดวก มีแหล่งท่องเที่ยว และรัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมการประชุมในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างการกระจายรายได้ และก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน

ด้านการลงทุนธุรกิจไมซ์ของต่างชาติในนามนิติบุคคลไทย (ถือหุ้นไม่เกิน 49.99%) พบว่า ณ สิ้นวันที่ 31 ต.ค. 2561 มีมูลค่าลงทุน 686.54 ล้านบาท คิดเป็น 7.79% ของการลงทุนในธุรกิจนี้ โดยต่างชาติที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มูลค่า 234.65 ล้านบาท คิดเป็น 2.66% ของมูลค่าลงทุนรวมในธุรกิจนี้ทั้งหมด ญี่ปุ่น 162.21 ล้านบาท คิดเป็น 1.85% และสหรัฐ 53.76 ล้านบาท คิดเป็น 0.61% ซึ่งต่างชาติที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เป็นประเทศคู่ค้าที่มีความสำคัญกับไทย และเป็นประเทศที่มีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์มาไทยสูงสุด เพราะต่างชาติมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และความพร้อมรวมถึงมาตรฐานของสถานที่และบุคลากรในการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลประกอบการธุรกิจไมซ์ตั้งแต่ปี 2558-2561 พบว่าธุรกิจการจัดประชุมมีรายได้เฉลี่ย 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี และมีกำไรเฉลี่ย 1,300 ล้านบาท/ปี โดยมีอัตรากำไรเฉลี่ย 13% ซึ่งปี 2559 เป็นปีที่ธุรกิจสามารถสร้างรายได้และกำไรสูงสุด และเมื่อพิจารณาในแต่ละขนาดธุรกิจ พบว่าธุรกิจขนาดเล็กมีสัดส่วนของจำนวนรายนิติบุคคลที่ส่งงบการเงินสูงสุด หรือเฉลี่ย 99.63% ขณะที่ปี 2560 ธุรกิจการจัดประชุมมีรายได้ลดลงเล็กน้อยแค่ 1.86% แต่มีจำนวนธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2559