posttoday

เกาะติดน้ำท่วมภาคใต้ ผ่านมาครึ่งเดือน เดือดร้อน 664,173 ครัวเรือน

06 ธันวาคม 2567

น้ำท่วมภาคใต้ อยู่ในสถานะเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึง 11ธ.ค.66 ปภ.ส่วนกลางลงพื้นที่เสริมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้รับความเดือดร้อนจากฝนตกหนักสะสม

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รายงาน น้ำท่วมภาคใต้ จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่  ระหว่างวันที่ 22 พ.ย. - 6 ธ.ค. 2567 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย

ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ 87 อำเภอ 538 ตำบล 3,729 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 664,173 ครัวเรือน รวมมีผู้เสียชีวิต 29 ราย (จ.พัทลุง 2 ราย สงขลา 10 ราย ปัตตานี 7 ราย ยะลา 5 ราย นราธิวาส 4 ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย)

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ประบกอบด้วย นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ครอบคุลมพื้นที่ 20 อำเภอ 114 ตำบล 728 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65,700 ครัวเรือน
(ที่มา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำทีมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) มาสนับสนุนการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ที่จังหวัดนราธิวาส ประชุมทีมส่วนหน้าแบ่งมอบภารกิจและแนวทางการทำงานเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของจังหวัดให้มีความรวดเร็ว
 
นายสหรัฐ กล่าว สถานการณ์ในช่วงนี้ยังต้องอยู่ในระหว่างการเตรียมการรับมือเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะมีการประชุมติดตามสถานการณ์กับจังหวัดภาคใต้ที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยในทุกเช้า เพื่อวางแผนรับมือและประสานการปฏิบัติกับส่วนกลางเพื่อให้สามารถนำความช่วยเหลือลงพื้นที่ได้ตรงกับปัญหาและความต้องการ 

ดังนั้น ขอให้ทีม ปภ. เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง เราจะทำงานกันอย่างเต็มที่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด 
(ที่มา เพจกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. ออกประกาศ ฉบับที่ 21/2567 พื้นที่ภาคใต้  เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ไปจนถึงวันที่ 11 ธ.ค. 67 ดังนี้

1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ชุมพร ระนอง ภูเก็ต ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 

2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ปัจจุบันปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเขื่อนด้วย

3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลัก
และลำน้ำสาขาของ คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองท่าดี คลองชะอวด แม่น้ำตรัง คลองลำ คลองท่าแนะ คลองอู่ตะเภา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

(ที่มา ประกาศ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)