posttoday

UNHCR ชี้ climate change ซ้ำเติมให้ปัญหาผู้อพยพรุนแรงขึ้น

31 มกราคม 2567

UNHCR เผยร่วมมือกับรัฐบาลไทยแก้ปัญหาบุคคลไร้สัญชาติกว่า 1 ล้านคน ชี้ Climate Change ผลักดันให้ปัญหาผู้อพยพทั่วโลกรุนแรงขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ เปิดเวที “Geopolitics 2024 : จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย” ณ ห้องพญาไท 1-2 ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

 

ในหัวข้อการทำงานด้านมนุษยธรรมเพื่อผู้ลี้ภัยท่ามกลางวิกฤติโลก “จูเซ็ปเป้ เด วินเช็นทีส” ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า

 

ผู้ลี้ภัย คือเครื่องชี้วัดความตึงเครียดระดับโลก สะท้อนสถานการณ์ความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงของแต่ละภูมิภาค และความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน แต่อย่าลืมว่าผู้ลี้ภัยไม่ใช่แค่ตัวเลขหรือเครื่องมือทางการเมือง พวกเขาคือคนที่มีครอบครัว แต่ด้วยสถานการณ์บังคับที่ทำให้ต้องจากบ้านเกิดเพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการอพยพ ประชากรเริ่มย้ายถิ่นฐานมากขึ้นซึ่งไม่ใช่สาเหตุจากเศรษฐกิจ แต่เพราะสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลง ภัยธรรมชาติทวีความรุนแรง ทำให้หลายคนไร้หนทางในการดำรงชีวิตและหาเลี้ยงชีพ พวกเขาจึงต้องอพยพเพื่อความอยู่รอด

UNHCR ชี้ climate change ซ้ำเติมให้ปัญหาผู้อพยพรุนแรงขึ้น

ในปี 2003 ตัวเลขชี้ว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยทั่วโลกอยู่ที่ 17 ล้านคน แต่ 10 ปีต่อมา ตัวเลขนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 51 ล้านคน และในปี 2023 ตัวเลขผู้ลี้ภัยทะลุแตะ 114 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความวุ่นวายของโลก ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประชากรมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ปัจจุบัน จำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย 76% ของผู้ลี้ภัยและผู้ที่ต้องการการคุ้มครองระหว่างประเทศหลักๆแล้วมาจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ลาตินอเมริกา ยูเครน ซีเรีย ซูดานใต้ อัฟกานิสถาน และเมียนมาร์ ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าวิกฤตผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นทั่วโลก ทุกทวีปได้รับผลกระทบ

 

นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ หรือราว 70% มักอาศัยในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง ผิดกับที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้ลี้ภัยมักย้ายไปอยู่ในประเทศร่ำรวย ซึ่งประเทศรายได้น้อยและปานกลางต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการรับผู้ลี้ภัย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

UNHCR ชี้ climate change ซ้ำเติมให้ปัญหาผู้อพยพรุนแรงขึ้น

ด้าน UNHCR เริ่มมีบทบาทในไทยและทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยหลังสิ้นสุดสงครามอินโดจีนในปี 1975 เพื่อมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือประชากรที่ลี้ภัยออกจากเวียดนาม กัมพูชา และลาว ขณะที่ในปัจจุบัน UNHCR ยังร่วมตรวจสอบสถานะผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์กับรัฐบาลไทยใน 9 ค่าย ตามแนวชายแดน เช่น กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน ตาก รวมถึงให้ทุกคนในค่ายผู้ลี้ภัยได้รับบัตรประจำตัว และมีการบันทึกข้อมูลประชากร

 

UNHCR ยังร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐสัญชาติ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล และการทำงาน โดยดำเนินการตรวจสอบและลงทะเบียนแก่บุคคลไร้รัฐสัญชาติ ซึ่งพบว่ามีมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยมาหลายชั่วอายุคน และอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทบนภูเขา

 

รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นในเวทีโลกเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐสัญชาติ โดยจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขาได้รับการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบและสามารถมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจไทย ซึ่งหน่วยงาน UNHCR มีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือรัฐบาล และอำนวยความสะดวกในบางจุดต่อการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น แต่ไม่สามารถแทนที่รัฐบาลได้ UNHCR พร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทยด้วยความเชี่ยวชาญ ความรู้ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจำเป็นต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง การเจรจาทางการเมือง และการทูต เพื่อหาข้อตกลงที่นำไปสู่สันติภาพและยุติการอพยพของผู้ลี้ภัย