posttoday

เกินเป้า หญิงไทยกว่าล้านคน ได้รับวัคซีน HPV แล้ว

10 ธันวาคม 2566

"ตรีชฎา" โชว์ผลงาน สาธารณสุข หลังเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็วปากมดลูกเกินล้านโดสแล้ว ทะลุเป้าหมายก่อน 100 วันตามนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล เล็งขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อปกป้องสุขภาพผู้หญิงไทยทุกคน

นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ตนมาแจ้งข่าวดีกับประชาชนว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันการติดดชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกทะลุ 1,000,000 โดสแล้ว ก่อนครบเวลา 100 วัน ตามที่ได้กำหนดเป้าหมาย ที่จะต้องฉีดให้ได้ 1,000,000 รายใน 100 วัน นับว่าเป็นการทำงานอย่างหนักของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขตามนโยบายของรัฐบาลได้เกินความคาดหมาย อีกทั้งยังเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมลงนามความร่วมมือกันไว้ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกรุงเทพมหานคร ฯลฯ 
 

โดยในช่วงวันที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 20.00 น. ยอดฉีดสะสม 971,898 ราย แต่ข้อมูลในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 สามารถฉีดวัคซีนสะสมเป็นจำนวน 1,036,891 โดสแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขยังคงมุ่งมั่นในการเดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ให้มากที่สุดในเวลาที่ยังเหลืออยู่ เพราะยิ่งฉีดได้มาก โอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงก็ลดลงเท่านั้น จึงขอเชิญชวนให้ผู้หญิงไม่ว่าจะอยู่ในระบบโรงเรียนหรือนอกระบบโรงเรียนรีบติดต่อมารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกและวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

 

นางสาวตรีชฎา กล่าวว่า เรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความตั้งใจมากตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าจะต้องป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงให้ลดลงให้มากที่สุด เพราะในปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกพบมากในผู้หญิงเป็นอันดับสอง รองมาจากมะเร็งเต้านม โดยมะเร็งปากมดลูกจากสถิติปี 2563 พบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 9,000 ราย เสียชีวิต 4,700 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง


โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวอีกว่า สำหรับมะเร็งปากมดลูกนั้นข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นเชื้อที่ติดได้ง่ายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสจากพาหะที่นำเชื้อเข้าสู่ช่องคลอด เมื่อเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายจะมีระยะเวลาดำเนินโรค 10-15 ปี ระหว่างนั้นจะไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใดๆ กว่าอาการจะปรากฏให้เห็น ทั้งนี้ผู้หญิงที่ได้รับชื้อ HPV มานาน มักจะมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นมักจะเป็นขั้นรุนแรง ดังนั้นการตรวจคัดกรอง จึงจำเป็นสำหรับผู้หญิงโดยทั่วไป 


“กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยสุขภาพของผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนวัยสาว อายุ 11-20 ปี ไม่ต้องการให้ใครป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก จึงขอให้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน รีบไปฉีดตั้งแต่วันนี้” โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าว