posttoday

สถานการณ์สกัดยาเสพติดชายแดนเหนือ พบลำเลียงผ่านระบบโลจิสติกส์มากขึ้น

04 พฤศจิกายน 2566

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย ติดตามภารกิจการป้องกันยาเสพติดตามแนวชายแดน ด้านแม่ทัพน้อยที่ 3 เผยพื้นที่ผลิตยาเสพติดยังอยู่ที่รัฐฉานเหนือ พบกลุ่มขบวนการใช้วิธีลำเลียงผ่านระบบโลจิสติกส์มากขึ้น

สถานการณ์สกัดยาเสพติดชายแดนเหนือ พบลำเลียงผ่านระบบโลจิสติกส์มากขึ้น

 

วันที่  4  พฤศจิกายน  2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่ บก.กกล.ผาเมือง ทางด้านของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางมาเพื่อร่วมหารือข้อราชการกับ แม่ทัพน้อยที่ 3ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ, ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง,ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยทาง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะฯได้เดินทางลงพื้นที่ ในการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานด้านการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือตอนบน เพื่อศึกษาพื้นที่ติดตามภารกิจการป้องกันชายแดน, การสกัดกั้น สิ่งผิดกฎหมาย และการลักลอบลำเลียงยาเสพติด

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติดเหมือนที่ผ่านมา และยังเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ เพราะการแก้ปัญหายาเสพติดเป็นการแก้ปัญหาอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากเยาวชนคือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในอนาคต หากติดยาเสพติดสังคมก็จะไม่มีความสงบสุข ผู้ค้าที่หาผลกระโยชน์จากยาเสพติด ถือว่าทำลายชาติ ความสงบ และเศรษฐกิจ 

ซึ่งรัฐบาลเตรียมประกาศนโยบายสำคัญ คือ ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 5 (10) ในการกำหนดพื้นที่พิเศษและโครงสร้างเฉพาะ เพื่อดำเนินการในพื้นที่ที่มีปัญหาการนำเข้ายาเสพติดรุนแรง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ใน 11 อำเภอ ซึ่งจะมีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นแลเคมีภัณฑ์เป็นหน่วยที่มีเอกภาพในการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดเข้าสู่เขตภาคเหนือ ในระยะ 1 ปีโดยจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึงสิ้นปี 2567 โดยให้ทางกองทัพภาคที่ 3 และ ป.ป.ส. เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนภารกิจ ควบคู่ไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวชายแดน

 

ด้าน พล.ท.นฤทธิ์  ถาวรวงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์และแนวทางการขับเคลื่อนการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือว่า สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาในช่วงที่ผ่านมา ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การผลิตและการลำเลียงยาเสพติดในพื้นที่เขตรัฐฉาน แต่ส่งผลต่ออัตราการผลิตยาเสพติดสูงขึ้นเนื่องจากมีการพัฒนาสูตรผสมยาเสพติดที่มาจากสารสังเคราะห์แทนพืชเสพติด โดยมีการลักลอบนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์จากต่างประเทศ

สำหรับพื้นที่ผลิตยาเสพติดหลัก ยังคงอยู่ในพื้นที่รัฐฉานเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษของกลุ่มว้าสามารถผลิตยาเสพติดได้ทั้ง ไอซ์ เฮโรอีน ยาบ้า และ คีตามีน ส่งผลให้ปัจจุบันมีแหล่งพักยาเสพติดบริเวณแนวชายแดน จำนวน 24 แห่ง ที่สำคัญแหล่งผลิตในพื้นที่รัฐฉานจะลักลอบขนยาเสพติด เข้ามาพักคอยในแหล่งพักตามแนวชายแดน ด้านตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่และด้านตรงข้ามจังหวัดเชียงราย เพื่อรอการลำเลียงเข้าสู่เขตไทย ทั้งนี้จากแหล่งข่าวพบว่าปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ มีบทบาทในการลักลอบลำเลียงยาเสพติด เข้ามาในเขตไทย

และพบว่ามีการลักลอบขนส่งยาเสพติด ผ่านทางระบบโลจิสติกส์รูปแบบพัสดุภัณฑ์ มากขึ้นเนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยใช้ต้นทุนต่ำ รวดเร็ว และสามารถส่งถึงผู้รับได้โดยตรง และในห้วงเดือนกันยายน และ ตุลาคม ของทุกปี จะพบกลุ่มขบวนการเดินทางจากพื้นที่ตอนในไปเคลื่อนไหวบริเวณ แนวชายแดน  เพื่อลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ตอนในมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบการจับกุมยาเสพติดรายใหญ่ได้เป็นจำนวนมาก

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ได้เดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รับฟังการบรรยายสรุปการปฏิบัติงานของหน่วยป้องกันชายแดนในการสกัดกั้นยาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมาย พร้อมจะได้มอบเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ตลอดจนพบปะกลุ่มแกนนำเยาวชนอาสาพัฒนาหมู่บ้านที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันยาเสพติดในพื้นที่ โดยมอบอุปกรณ์กีฬาเพื่อสนับสนุนการใช้เวลาว่างของเยาวชนให้เป็นประโยชน์ ซึ่งมี พลโท นฤทธิ์ถาวรวงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคเหนือ และ พลตรี ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง ให้การต้อนรับ

สำหรับกองกำลังผาเมือง เป็นกองกำลังป้องกันชายแดนซึ่งมีรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมาและลาว รับผิดชอบพื้นที่ 6 จังหวัด 24 อำเภอ โดยมีหน่วยเฉพาะกิจไชยานุภาพรับผิดชอบเขตติดต่อของจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตากรับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา โดยมีภารกิจที่สำคัญอีกภารกิจหนึ่งคือ ภารกิจการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือตอนบน