posttoday

ส.อ.ท. ผนึกเครือข่าย ขยายความรับผิดชอบผู้ผลิต ยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

10 กันยายน 2566

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญไทย-สหภาพยุโรป เพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนและดำเนินงานการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต

ส.อ.ท. ผนึกเครือข่าย ขยายความรับผิดชอบผู้ผลิต ยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญไทย-สหภาพยุโรป เพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนและดำเนินงานการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “Thai – EU Experts’ Exchange on Circular Economy and the Extended Producer Responsibility (EPR) in Packaging” ณ โรงแรม วี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566

 

โครงการฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทยมาดำเนินงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของสหภาพยุโรป รวมทั้งเพื่อนำมาสนับสนุนการจัดทำร่างกฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ของไทย และยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยในการส่งเสริมขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายเศรษฐกิจแบบ BCG ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ในการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้ได้ดำเนินกิจกรรมหลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญไทย-สหภาพยุโรปในวันนี้ที่ครอบคลุมตลอดระยะเวลา 5 วัน

 

นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและนำเสนอว่า “ปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-อียู มีพลวัตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากการลงนามกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement – PCA) เมื่อปลายปี 2565 และการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในปี 2566 ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูทั้งในกรอบ PCA และการเจรจา FTA รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในการติดตามนโยบาย กฎระเบียบและมาตรฐานของอียูด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย และแสวงหาความร่วมมือกับอียูเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนของไทยภายใต้เศรษฐกิจยุค ใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน”

 

นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า “ทั่วโลกรวมทั้งอียูเอง ต่างวางเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยอียูเองได้ออกระเบียบให้ประเทศสมาชิก จะต้องเข้าร่วมโครงการ EPR และปี 2573 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดอียูต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ ส่งผลให้ไทยเองก็จะต้องปรับกติกาและคาดว่า EPR ของไทยจะเป็นภาคบังคับในปี 2570 สำหรับโครงการฯ นี้ ถือว่าเข้ามาในเวลาที่เหมาะสม แต่เหลือเวลาเพียง 4 ปี เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจะต้องเร่งให้ความรู้และเสริมการปฏิบัติให้ครอบคลุมทุกส่วนการผลิต เพราะไทย มีการส่งออกในสัดส่วนที่สูง กระทรวงการต่างประเทศมุ่งสนับสนุนการเตรียมความพร้อม และยกระดับมาตรฐานของไทย โดยเฉพาะในประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันยิ่งมีผลต่อการทำธุรกิจ และการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการไทย รวมทั้ง GIZ เข้าร่วมดำเนินโครงการฯ และมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก อันแสดงถึงความตื่นตัวของทุกภาคส่วนในการร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและยกระดับขีดความ สามารถในการแข่งขันของประเทศ”

 

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวขอบคุณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญจากอียูและหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการจัดประชุมครั้งนี้ และเน้นย้ำความสำคัญของการนำหลักการ EPR มาใช้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นกลไกที่นำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในการเปลี่ยนขยะกลับเป็นทรัพยากร แต่ยังเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้าที่ต้องใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ของตน โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบเชิงนิเวศไปจนถึงการนำกลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิล

การประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรปและไทยจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงาน EPR ของบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ที่ให้ความสำคัญกับการลดของเสียตั้งแต่ต้นทางไปยังสถานที่กำจัด ขั้นสุดท้าย รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของภาคขยะนอกระบบและร้านรับซื้อของเก่า ที่เป็นกลไกสำคัญในการนำกลับวัสดุเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

 

นายนภดล ศิวะบุตร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม(TIPMSE) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือเป็นแกนกลางหลักในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการจัดทำร่างกฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ของไทย รวมทั้งเรายังได้ร่วมศึกษาและทดลองดำเนินโครงการนำร่องนี้ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งเพื่อรองรับกับกฏระเบียบบังคับของการค้าโลกที่เข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และ ส.อ.ท. เอง เราพร้อมสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ไปยังสมาชิกเครือข่าย โดยเน้นย้ำผู้ผลิตว่าต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมก่อนผลิตสินค้าใดๆ ออกมา ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตสินค้าที่ราคาถูกที่สุด แต่ต้องเน้นการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กับการได้มาซึ่งคุณภาพตามมาตรฐาน”

“เราพร้อมเดินหน้าบริหารบรรจุภัณฑ์สู่การรีไซเคิลทั้งระบบร่วมรัฐและชุมชน เพื่อรองรับกติกาโลก เพื่อลดโลกร้อน โดยหวังว่าจะสามารถเตรียมออกเป็น EPR ภาคบังคับในประเทศไทยได้ในปี 2570 นี้” นายนภดล กล่าวทิ้งท้าย

 

ภายใต้โครงการฯ เรายังได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ เช่น สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาการที่ให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน EPR จากต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย

นาย Tjaco Twigt ผู้บริหารโครงการ Sea The Future เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติก จากเนเธอร์แลนด์

 

ภายในงาน ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรปด้านหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(EPR) เดินทางเยือนไทยจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ (1) นาย Frithjof Laubinger นักเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development -OECD) (2) นาย Tjaco Twigt ผู้บริหารโครงการ Sea The Future เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติก จากเนเธอร์แลนด์ และ (3) นาย Kyriakos Parpounas วิศวกรสิ่งแวดล้อมจากไซปรัส ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้าน EPR ร่วมกับหลายองค์กรระหว่างประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกรุงเทพมหานครและศึกษาดูงาน ณ บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์การจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ของประเทศมากขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป