posttoday

ศรีสุวรรณปลุกคนนครนายกค้านก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์องค์รักษ์

09 กันยายน 2566

ศรีสุวรรณ จรรยา ชวนคนนครนายก ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ คัดค้านเวทีประชาพิจารณ์ ก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ องครักษ์ 10ก.ย.66

นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลต้องการผลักดันโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก มาตั้งแต่ปี 2533 และในปี 2553 ก็ต้องยุติไปด้วยปัญหาทุจริตภายใน และการคัดค้านอย่างรุนแรงของประชาชน ต่อมาปี 2560 ได้ฟื้นโครงการขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่ 3 แต่เพิ่มขนาดเป็น 20 เมกะวัตต์ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของประชาชนตลอดมา ทำให้โครงการยืดเยื้อมาเกือบ 6 ปี จนกระทั่งมีการกำหนดให้มีการประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 กันยายน 2566ในหลายท้องที่ของอำเภอองครักษ์ท่ามกลางแรงคัดค้านของคนนครนายก

ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ของโครงการฯ นี้คือที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์จะอยู่ติดกับฝั่งแม่น้ำนครนายกทำให้สาธารณชนกังวลใจต่อการแพร่ของสารกัมมันตรังสีสู่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคอันได้แก่ แม่น้ำบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี และเข้าคลองซอยสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เชื่อมสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งเตาปฏิกรณ์ส่วนที่อยู่ใต้ดินก็จะฝังแช่ในน้ำและเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสู่น้ำบาดาล 
             
นอกจากนี้การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการเมื่อปี 2533 เป็นข้อมูลที่ล้าสมัยและขาดหลักฐานยืนยันกระบวนการคัดเลือกดังกล่าว อีกทั้งยังขัดกับเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนดโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA อันได้แก่ พื้นที่ตั้งเป็นดินอ่อน น้ำท่วมถึง มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว น้ำใต้ดินอยู่ตื้น อยู่ใกล้ชุมชน และใกล้สนามบินเล็ก เป็นต้น

ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่รัฐบาลพยายามสร้างโครงการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ องค์การมหาชน หรือ สทน. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ แต่กลับพบว่ามีกลุ่มบุคคลออกมาแจกเงินและสิ่งของเพื่อจูงใจในการทำประชาพิจารณ์ การปกปิดข้อมูลรายงานความคุ้มค่าในการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา และการเก็บกากกัมมันตรังสีในพื้นที่โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน เป็นต้น

ปัญหาความปลอดภัยของนิวเคลียร์เป็นเรื่องระดับสากล เห็นได้จากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของประเทศญี่ปุ่นทำให้เกิดกระแสการต่อต้านรุนแรงในระดับโลก ส่วนปัญหาในระดับชาติ ความเชื่อมั่นต่อเรื่องการจัดการกัมมันตรังสีตกต่ำลงจากปัญหาการจัดการสารซีเซียม 137 ที่ไม่สามารถติดตามและควบคุมได้ที่จังหวัดปราจีนบุรี จนขณะนี้ยังไม่สามารถหาสถานที่เหมาะสมเก็บกากฝุ่นเหล็กได้ อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลไม่เคยประชาสัมพันธ์โครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโครงการนี้ให้กับคนไทยรับรู้
               
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงใคร่ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่ได้สั่งให้มีการทบทวนการเลือกพื้นที่ดำเนินการเสียใหม่ รวมทั้งขอเรียกร้องให้คนนครนายกออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วยการออกมาร่วมกันคัดค้านเวทีประชาพิจารณ์ในวันที่ 10 ก.ย.66 เพื่อแสดงพลังให้รัฐบาลใหม่ได้ยกเลิกโครงการนี้เสียในทันที