posttoday

ETDA ชวน รู้ทัน AI ป้องกันภัยจากเทคโนโลยี Deepfake

15 สิงหาคม 2566

ศูนย์ AIGC by ETDA เปิดเวทีแนะแนวทางรับมือเทคโนโลยี AI Deepfake ที่สามารถสร้างชุดข้อมูล ภาพ เสียง ได้ราวกับมนุษย์ พร้อมวางกรอบการกำกับดูแลและประยุกต์ใช้งาน AI ในไทย

ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic หรือ AIGC) นำโดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA, พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ ดร.วุฒิพงศ์ อารีกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง พาคนไทยไปทำความรู้จักกับ AI Deepfake พร้อมวิธีการรับมือเบื้องต้นให้รู้ทันเทคโนโลยี AI ที่วันนี้สามารถสร้างชุดข้อมูล ภาพ เสียง ได้ราวกับมนุษย์

เทคโนโลยี AI Deepfake คือ Generative AI รูปแบบหนึ่ง ที่สามารถสร้างสื่อสังเคราะห์ ทั้งภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง ที่เหมือนคนพูดคุยจริงๆ จนยากที่จะแยกออก ด้วยระบบการเรียนรู้หรือ Deep Learning จากลักษณะภายนอกของบุคคล เช่น  สีผิว ตา ปาก จมูก รูปลักษณ์ต่างๆ  ประกอบกับความฉลาดของการเรียนรู้ชุดข้อมูลมหาศาล 

วัตถุประสงค์ของการสร้าง AI Deepfake นั้น จะขึ้นอยู่กับผู้สร้างว่า ต้องการนำไปใช้ในด้านใด ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีทั้งในมุมที่ก่อประโยชน์และมุมที่ส่งผลเสียต่อสังคม

การสร้างคลิปภาพและเสียงจาก AI Deepfake หลักๆ จะมี 2 แบบ คือ การปลอมแค่บางส่วน (Face Wrap) เช่น เอาหน้าที่ต้องการปลอมขึ้นมา ไปแปะใส่หน้าคนจริงที่ถ่าย แล้วพยายามเลียนแบบเสียง และพฤติกรรมให้เหมือนคนนั้นๆ 

ขณะที่อีกวิธีคือ  การปลอมทั้งหมด (Face Reenactment) โดยใช้ AI ที่เกิดจากการเรียนรู้จากข้อมูลต่างๆ ทั้งการให้แสงเงา การกระพริบตา การยิ้ม เลียนแบบทุกอย่าง ก่อนสร้างภาพเสียงสังเคราะห์เป็นบุคคลนั้นออกมา 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเริ่มเกิดความกังวลว่าจะทำให้การทำธุรกรรมทางออนไลน์ตกอยู่ในความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างมองตรงกันว่า แม้เทคโนโลยี AI Deepfake จะมีความฉลาดล้ำ แต่ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันว่า AI ไม่สามารถเลียนแบบอัตลักษณ์ หรือ Identity ที่สะท้อนความเป็นเราจริงๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ม่านตา เลือด DNA ฟัน หรือแม้แต่ลายนิ้วมือ ซึ่งอัตลักษณ์เหล่านี้ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ต่างก็นำมาใช้ในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล 

ซึ่งเป็นวิธียืนยันตัวตนที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย โดยเฉพาะในภาคการเงิน 

จะรู้ได้อย่างไร? ว่ารูปหรือคลิปที่เห็น ถูกสร้างขึ้นจาก AI Deepfake

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า สิ่งที่จะทำให้เรารู้ทัน  AI Deepfake ได้ คือ “วิจารณญาณ” ของเราเอง ที่อย่าเชื่อแค่ภาพที่เราได้เห็น เสียงที่เราได้ยิน แล้วกดไลค์ กดแชร์ต่อ หรือแสดงความคิดเห็นเลย แต่ต้องมององค์ประกอบ หรือปัจจัยอื่นๆ ตลอดจนบริบทที่เกิดขึ้นว่ามีโอกาสที่คนคนนี้จะพูดแบบนี้ จริงหรือไม่ 

สิ่งสำคัญที่คนไทยทุกคนจะต้องมี คือ ต้องมีทักษะของการรู้เท่าทัน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของดิจิทัล หรือ Digital Literacy เท่านั้น แต่ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี AI หรือ  AI Literacy ด้วย

ซึ่ทางด้านศูนย์ AIGC by ETDA จึงร่วมกับพาร์ทเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ทั้งไทยและต่างประเทศที่มาร่วมเป็นคณะทำงานในรูปแบบ International Policy Advisory Panel และ Fellowship เดินหน้าสร้าง AI Governance Guideline ที่เหมาะสมกับประเทศ เพื่อเป็นกรอบในการดูแลการประยุกต์ใช้งาน AI ของประเทศไทยต่อไป