เผยหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 ตามประกาศในราชกิจจาฯ
เผยหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 ตามราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศใช้แล้ว โดยมีผลตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ใน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่เมือ่วันที่ 7 กรกฎาคม 2566
ระเบียบดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 69 และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 5 และ มาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 6 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงออกระเบียบไว้ ดังนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566
บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศ หรือมติอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2566)
สำหรับสาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้
ข้อ 4 ในระเบียบนี้ "ผู้สูงอายุ" หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป "เบี้ยยังชีพ" หมายความว่า เงินที่รัฐมอบให้แก่ผู้สูงอายุตามกฎหมายเพื่อใช้ในการยังชีพ
"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" หมายความว่า เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา
"ผู้บริหารท้องถิ่น" หมายความว่า นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกเมืองพัทยา
หมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ
ข้อ 6 ผู้มีสิทธิจะได้รับ เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1.มีสัญชาติไทย
2.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
4.เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
ขณะที่ในหมวด 5 ข้อ 14 ระบุ สิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามระเบียบนี้ สิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
1.ตาย
2.ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6
3.แจ้งสละสิทธิการขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตนมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว สิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับบุคคลดังกล่าว
ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุ ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน
นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ยังระบุว่า บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป
การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว
อ่านฉบับเต็มที่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น