posttoday

สภาอุตฯสมุนไพรร้อง"สวรส."ทบทวนบทวิจัย‘ฟ้าทะลายโจร’หวั่นกระทบตลาด

20 กรกฎาคม 2566

สภาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยรวมตัวเรียกร้อง "สวรส."ทบทวนบทวิจัยส่งผลเสียต่อ ‘ฟ้าทะลายโจร’ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมผลิตยาสมุนไพรไทย และเกษตรกร คาดสร้างความเสียหายกว่า 2.5 พันล้าน

นายศรัณย์ แจ้วจิรา นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับ ดร.ชนิญญา ชัยสุวรรณ นายกสภาแพทย์แผนไทย และนายเมธา สิมะวรา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข (สวรส.) ทบทวนการนำเสนอบทวิจัย “การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด”

โดยในบทวิจัยดังกล่าวได้เผยแพร่ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมธุรกิจผลิตยาสมุนไพรไทย ที่ระบุว่า “ยาฟ้าทะลายโจรไม่สามารถลดอัตราการเกิดปอดอักเสบหรือลดอาการและลดปริมาณเชื้อไวรัสได้เมื่อเทียบกับยาหลอก และหากใช้ยาฟ้าทะลายโจรต่อเนื่องกัน 5 วัน จะมีผลแทรกซ้อนต่อการทำงานของตับ” ซึ่งข้อความของ สวรส.ดังกล่าวแตกต่างกับข้อมูลการวิจัยจากสถาบันอื่นๆ เช่นก การวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่แสดงผลวิจัยที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโควิด -19 และมีผลข้างเคียงน้อยมาก

นอกจากนี้ยาฟ้าทะลายโจรยังได้ถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และถูกนำไปใช้รักษาโควิด – 19 อย่างกว้างขวาง มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกเพื่อเป็นตัวยา ที่ใช้ทั้งในประเทศและส่งออกยังต่างประเทศ พร้อมทั้งได้ยกระดับขึ้นมาเป็นจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านมาเป็นยาหลักของประเทศสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดจากความเชื่อมั่นในงานวิจัย และการประกาศของส่วนราชการในกระทรวงสาธารณะสุข ได้แก่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สภาการแพทย์แผนไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

อย่างไรก็ดีบทความของ สวรส.นั้นมีข้อน่าสังเกตว่า เป็นบทความที่มีข้อสรุปกว้างเกินไป เนื่องจากเป็นการทดลองในกลุ่มผู้ที่มีโอกาสติดเกิดปอดอักเสบต่ำ เพราะกลุ่มทดลอง เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ที่ได้รับวัคซีนโควิด -19 แล้ว งานวิจัยนี้จึงไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร อีกทั้งยังจะกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรในวงกว้าง โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของยาฟ้าทะลายโจรอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท ซึ่งหากมีบทวิจัยที่ทำลายความเชื่อมั่นก็จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าตลาดรวมเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยทุกรายไม่พบความผิดปกติของตับ ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพ ข้อความที่ระบุว่า “การได้รับยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 5 วัน จะเกิดผลแทรกซ้อนต่อการทำงานของตับ” จึงเป็นการรายงานที่คลาดเคลื่อนจากข้อพบของงานวิจัย อีกทั้งงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีการทดสอบความเป็นผิดของฟ้าทะลายโจรต่อตับ ว่าการรับประทานฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 5 วัน ไม่มีผลต่อตับ