posttoday

โฆษกตร.แจงนักเรียนนายสิบจบใหม่ลงคฝ.เพิ่มทักษะความอดทน

06 มิถุนายน 2566

โฆษก ตร. แจงปม'นักเรียนนายสิบ' จบใหม่ถูกคำสั่งลงหน่วยควบคุมฝูงชน เพื่อเพิ่มทักษะ ความอดทนต่อสถานการณ์ เนื่องจากเสรีภาพแสดงออก-แนวโน้มชุมนุมสูงขึ้น และเป็นการกำหนดอัตราไว้ชั่วคราวหมุนเวียนก่อนส่งลงโรงพักหากอยู่ครบวาระ

กรณี“นักเรียนนายสิบ”จบใหม่ได้รับคำสั่งให้ไปปฎิบัติหน้าที่ตำแหน่งควบคุมฝูงชน ซึ่งคำสั่งนี้เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งได้เพียง 4 วันโดยในพื้นที่เฉพาะภาคกลางและตะวันออก โดนเกือบทั้งรุ่น จึงมีการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องการกำลังคฝ.จำนวนมาก หลังเลือกตั้ง

หนึ่งในนักเรียนนายสิบที่ร้องเรียน มีเนื้อหาสำคัญ ระบุว่า กำลังจะจบเดือน ก.ค.นี้ และจะไปลงสายงานตามโรงพัก ตอนสอบเข้ามาตั้งใจจะทำงานเป็นสายตรวจปราบปราม แต่พอจบกลับมีคำสั่งให้ไปเป็น คฝ. ตอนมาสมัคร ก็ไม่มีเงื่อนไขสัญญาข้อไหนที่บอกว่า ต้องมาทำงานในตำแหน่ง คฝ. 

พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า การนำนักเรียนนายสิบตำรวจ (นสต.) ที่จบการศึกษาใหม่ มาลงในตำแหน่งกองร้อย คฝ. จะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านงานป้องกันปราบปราม ยุทธวิธีตำรวจ การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือพิเศษต่างๆ เตรียมความรู้ด้านข้อกฎหมาย การตรวจค้น การจับกุม การติดต่อสื่อสารและการทำงานเป็นทีมเพิ่มเติม และเพิ่มทักษะความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่งานป้องกันปราบปราม จราจร สืบสวน สอบสวน ในสถานีตำรวจและเมื่อปฏิบัติหน้าที่ครบตามวาระประจำปี ก็จะแต่งตั้งหมุนเวียนไปสถานีตำรวจเป็นวงรอบ สับเปลี่ยนกำลังพลไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจหรือสามารถพัฒนาเป็น ครูฝึกยุทธวิธีตำรวจต้นแบบให้กับสถานีตำรวจหรือ นสต. รุ่นอื่นๆ ต่อไป
 

สำหรับแนวทางจัดกำลังในตำแหน่งควบคุมฝูงชน ว่า  ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีภารกิจในการดูแลและบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะในหลายพื้นที่ หลายการชุมนุมขนาดใหญ่ จะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศมาปฏิบัติหน้าที่

“ในสถานการณ์ปัจจุบัน เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจมีระยะเวลาการชุมนุมติดต่อกันยาวนาน อันอาจส่งผลกระทบให้ขาดแคลนกำลังพลในสถานีตำรวจต่างๆ การปฏิบัติหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเจ้าหน้าที่สายตรวจ สืบสวน จราจร หรืองานต่างๆ ในระดับสถานีตำรวจจะขาดกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่”

พล.ต.ท.อาชยน ระบุอีกว่า ตร. โดย กองอัตรากำลังพล จึงได้วิเคราะห์ภารกิจและกำหนดนโยบายในการเพิ่มอัตรากำลังที่จะดูแลการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ โดยพิจารณาจากจำนวนสถิติพื้นที่ที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นจำนวนมาก หรือปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมสูง ระยะเวลาหลายๆ วัน เพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังในการดูแลการชุมนุมฯ เป็นการเฉพาะ ไม่ให้กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในระดับสถานีตำรวจ โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังจากสถานีตำรวจให้น้อยที่สุด กำหนดเพิ่มอัตรากองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และในจังหวัดอื่นๆ โดยกำหนดอัตรา ประจำ กก.สส.บก.สส. ภ.1 , 2 , 7 และ อัตราประจำ กก.ปพ.บก.สส. เสมือนการดำรงตำแหน่งไว้ชั่วคราวเพื่อรอการลงประจำสถานีตำรวจ

พล.ต.ท.อาชยน เปิดเผยอีกว่า ในกรณีที่ไม่มีภารกิจการชุมนุมฯ ตร. ได้กำหนดแนวทางให้ ผบช. หรือ ผบก. ต้นสังกัด สามารถบริหารจัดการให้กำลังดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถานีตำรวจ ได้ตามแต่ห้วงเวลา หรือให้สนับสนุนภารกิจการจัดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ เช่น การรักษาความปลอดภัยในการจัดงาน ขนาดใหญ่หรือการจัดชุดออกตรวจตราเสริมในพื้นที่อาชญากรรมสูง เป็นต้น