posttoday

อินโดนีเซียกับอนาคตของฐานการผลิตแห่งใหม่ในอาเซียน

25 กรกฎาคม 2562

โดย...หทัยภัทร ลิมป์บรรเจิด กองทุนบัวหลวง

โดย...หทัยภัทร ลิมป์บรรเจิด กองทุนบัวหลวง

สงครามการค้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน Global Supply Chain และหลายๆ บริษัท เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ อินโดนีเซียก็นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์ ทั้งจากฐานการบริโภคในประเทศที่มีขนาดใหญ่ อีกทั้งรัฐบาลยังแก้ไขและผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นเหตุให้ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ สัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ย้ายฐานและขยายกำลังการผลิตไปยังอินโดนีเซีย ไม่เพียงแต่การลงทุนจากประเทศอุตสาหกรรมการผลิตอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันยังเพิ่มการลงทุนเข้าไปด้วย

ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 ตัวเลขการลงทุนจากกลุ่ม Intra-ASEAN Investment หรือการลงทุนจากกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ไหลเข้าสู่ประเทศอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 11,842 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 367,000 ล้านบาท คิดเป็น 50% จากตัวเลขการลงทุนของกลุ่ม Intra-ASEAN investments ทั้งหมดในภูมิภาค สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน โดยจากการสำรวจจากธนาคารกลางอินโดนีเซีย พบว่า มีการขยายอัตราการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ โดยคาดว่า จะเห็นการขยายกำลังการผลิตต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า

นอกจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่แล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อ Roadmap การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ เคมิคอล และอิเล็กทรอนิกส์ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทในภาคการผลิต จากปัจจุบันที่ 20% ของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ เป็น 25% ของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2568

เนื่องจากลักษณะของอินโดนีเซียเองเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และมีจำนวนประชากรสูงถึง 250 ล้านคน จึงจำเป็นต้องผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศ นอกจากการลงทุนเพื่อการบริโภคในประเทศที่ผลักดันให้เกิดการขยายการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้นแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายที่ดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียเพื่อผลักดันการส่งออกของประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP จากปัจจุบันที่ 2% เป็น 10%

นโยบายสนับสนุนการลงทุน เช่น การให้ Tax Holiday แก่บริษัทที่ลงทุนในอินโดนีเซีย โดยลดเงินลงทุนตั้งต้นจาก 1,000 พันล้านรูเปียะห์ หรือประมาณ 2,200 ล้านบาทไทย เหลือที่ 500 พันล้านรูเปียะห์ หรือ ประมาณ 1,100 ล้านบาท และขยายเวลาการงดเว้นภาษีจากสูงสุด 15 ปี เป็น 20 ปี การสร้างสาธารณูปโภคเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง การสร้างท่าเรือเพื่อรองรับการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการพิจารณากฎหมายแรงงานเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังลงทุนในระบบการศึกษาเชิงอาชีวะศึกษา เพื่อสร้างให้แรงงานมีฝีมือเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ประเทศอินโดนีเซียสามารถเติบโตได้ดีในระยะยาว