posttoday

“จีสตีล”เร่งส่งงบตามกำหนด คาดหุ้นกลับมาเทรดปกติหลังปิดไตรมาส3/62

26 มิถุนายน 2562

สิ้นปีนี้ ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ มูลหนี้เงินต้นบวกดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นหมื่นล้าน

คาดสิ้นปี 62 นี้ ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ มูลหนี้เงินต้นบวกดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นหมื่นล้าน

น.ส.สุนทรียา วงศ์ศิริกุล กรรมการบริหาร บริษัท จี สตีล (GSTEL) เปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้ประกาศเกณฑ์พิเศษเปิดโอกาสให้หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมายพักการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (SP) นานเกิน 3 เดือน ให้มีโอกาสซื้อขายระหว่างวันที่ 1-31 ก.ค.นี้ หลังจากนั้นจะขึ้นเครื่องหมาย SP ยาวจนกว่าบริษัทจะดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติได้ตามเกณฑ์ที่ตลาดฯกำหนด ซึ่งบริษัทคาดว่าหุ้น GSTEL จะสามารถกลับมาซื้อขายปกติได้เมื่อบริษัทนำส่งงบการเงินไตรมาส 3/62 ตรงตามระยะเวลาการส่งงบการเงิน

สาเหตุที่หุ้น GSTEL ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เนื่องจากนำส่งงบการเงินปี 2561 ล่าช้า เนื่องจากบริษัทต้องการรอผลการสอบสวนจากกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ) เพื่อประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์เศษเหล็กสูญหายจากกระบวนการโกงการซื้อขายเศษเหล็กในภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้รับข้อมูลจากการตรวจสอบเรื่องเศษเหล็กสูญหายครบถ้วนแล้ว

ขณะเดียวกันบริษัทได้จัดประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2562 โดยผู้ถือหุ้นได้อนุมัติรับรองงบการเงินปี 2560 ซึ่งบริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2561 และแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสำหรับรอบบัญชีปี 2561 และ 2562 โดยบริษัทได้รายงานงบการเงินไตรมาส 1-3 ของปี 2561 และงบปี 2561 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2562 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีประกาศให้หุ้น GSTEL อยู่ใน resume stage นับแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2562

น.ส.สุนทรียา กล่าวต่อว่า บริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติงบไตรมาส 1/62 ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถส่งงบการเงินได้ครบถ้วน และไม่มีค้างส่งงบการเงินใดๆ อีก และบริษัทยังมั่นใจว่าจะสามารถส่งงบการเงินได้ตามเวลาที่กำหนด ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 เป็นต้นไปประกอบกับบริษัทไม่มีประเด็นเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน

ด้านภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้กลับมาผลิตใหม่เป็นปกติอย่างต่อเนื่องเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับเงินกู้ระยะยาวจากกลุ่ม SSG สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจานวน 70 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,100 ล้านบาท) ซึ่งเงินกู้จำนวนดังกล่าวทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสำหรับการผลิตในช่วง off-peak ซึ่งมีกำลังการผลิตเหล็ก 6-6.5 หมื่นตันต่อวัน ขณะเดียวกันคุณภาพสินค้าก็ไม่มีปัญหาหลังจากหยุดผลิต 3 เดือน

สำหรับกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ทั้งหมด เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และเป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต ) และตลท.โดยหากการปรับโครงสร้างหนี้มีความชัดเจนและได้รับอนุมัติจากทุกหน่วยงาน บริษัทก็จะรายงานต่อตลท.

ทั้งนี้ บริษัทฯคาดว่าสิ้นปี 2562 นี้จะปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้วเสร็จ โดยมีมูลหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท