posttoday

แนวโน้มหลักของเทคโนโลยี “บล็อกเชน” ในอนาคต

26 เมษายน 2562

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะถูกนำมาใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ และคาดว่าในอนาคตจะมาปฏิวัติกระบวนการทางธุรกิจแบบดั้งเดิม

บทความโดย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง

-------------------------------------------------------------------

เทคโนโลยีบล็อกเชนกลายเป็นที่นิยมที่สุดในตลอดปีที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้งานอย่างแพร่หลายของคริปโตเคอเรนซี่ เช่น บิทคอยน์ สิ่งที่ทำให้บิทคอยน์นั้นโดดเด่น เพราะว่ามันทำงานอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชนโดยใช้ Distributed Ledger Technology ในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งทุกคนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ และข้อมูลเหล่านี้จะไม่สามารถถูกควบคุมหรือแทรกแซงได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี บล็อกเชน จะถูกนำมาใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ และคาดว่าในอนาคต บล็อคเชนจะมาปฏิวัติกระบวนการทางธุรกิจแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบล็อกเชนยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำมาใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ

บทความนี้จะพูดถึงแนวโน้มหลักของการพัฒนาบล็อกเชนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

1. อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารจะเป็นผู้นำขับเคลื่อนเทคโนโลยีบล็อกเชน

สิ่งที่ธุรกิจการธนาคารและการเงินแตกต่างจากธุรกิจแบบดั้งเดิมอื่นๆ คือพวกเขาไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานในกระบวนการทำงานมากนักสำหรับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ เพราะว่าโครงสร้างเดิมที่มีอยู่สามารถต่อยอดได้ไม่ยาก โดยธนาคารหลายแห่งได้มีการนำคริปโตเคอเรนซีมาใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารแล้ว

ตัวอย่างเช่น ในปี 2016 ธนาคาร ReiseBank AG ในประเทศเยอรมนี ได้ทำการโอนเงินข้ามประเทศระหว่างลูกค้าสองราย เสร็จภายใน 20 วินาที โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน อ้างอิงจากรายงานของ PWC 77 เปอร์เซ็นต์ของสถาบันการเงินคาดว่าจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานภายในปี 2020 ถึงแม้ว่าคอนเซ็ปต์บล็อกเชนจะฟังดูเรียบง่าย แต่มันสามารถลดต้นทุนของธุรกิจการเงินได้อย่างมหาศาล บล็อกเชนจะช่วยให้การชำระเงินเร็วขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำ ทำให้ธนาคารมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ด้วยการแปรรูปให้ลดความเป็นระบบราชการลง (Reduce excessive bureaucracy) และเพิ่มความโปร่งใสมากขึ้น หนึ่งในบริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก Gartner ได้คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการธนาคารจะมีมูลค่าทางธุรกิจเพิ่มขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการใช้คริปโตเคอเรนซี่ที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน ภายในปี 2020

2. ปรากฏการณ์สกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ

ในอนาคต สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ รัฐบาลจะต้องตระหนักถึงประโยชน์ของสกุลเงินดิจิทัลที่ทำงานอยู่บนระบบบล็อกเชน ตอนนี้ก็มี ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน ซึ่งเป็นคนแรกที่เสนอเรื่องสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติ เนื่องจากสกุลเงินบิทคอยน์ได้เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศแล้ว รัฐบาลจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัล เพื่อที่จะตามโลกของเทคโนโลยีใหม่ให้ทัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องพัฒนาระบบการเงินของตน เพราะว่า Bitcoin และ Cryptocurrency ตัวอื่นๆ อาจกลายเป็นสกุลเงินที่สามารถซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้เลย

แม้ว่าบางประเทศ เช่นจีนยังคงแบนการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลอยู่ แต่นักวิเคราะห์หลายคนยังคาดว่า สุดท้ายแล้ว รัฐบาลของประเทศต่างๆจะยอมรับสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เพราะมันมีศักยภาพที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ และสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่เหมาะสมสําหรับเศรษฐกิจยุค 4.0 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศเวเนซุเอลา ได้เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของตนที่ชื่อว่า “เปโตร” ซึ่งได้รับการองรับด้วยทองคำ น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติสำรองทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศ รัฐบาลเวเนซุเอลาหวังว่าสกุลเงินดิจิทัล เปโตร จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ที่ถูกกดดันอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทั้งนี้ บริษัทวิจัย Gartner คาดการณ์ว่า อย่างน้อยห้าประเทศจะออกสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง ภายในปี 2022

3. ผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนคือเทรนด์อาชีพแห่งอนาคต

ถึงแม้บล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีที่อยู่อันดับต้นๆของความนิยม แต่ตลาดนี้ยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนอยู่ ในประเทศไทยตอนนี้ก็มี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub Blockchain Technology) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนหลายคน ที่ให้บริการเป็นที่ปรึกษาในการออกเหรียญ ICO และ Blockchain Solution รวมถึงการทำ Asset Tokenization (การแปลงอสังหาฯและที่ดินให้กลายเป็นโทเค็น) และ Smart Contracts สำหรับคนที่อยากเดินบนสาย บล็อกเชน จำเป็นต้องศึกษาและเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในด้านนี้ให้มาก เพราะตอนนี้หลายบริษัทมีความต้องการในผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนสูงมาก และคาดว่าอีกสองถึงสามปีข้างหน้า จะมีความต้องการเพิ่มอีก 15-20%

4. บล็อกเชนจะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานของภาครัฐ
คอนเซ็ปต์ของ Distributed Ledger หรือบัญชีแยกประเภทแบบกระจายที่ทำงานอยู่บนระบบบล็อกเชนนั้น มีความน่าสนใจอย่างมากต่อหน่วยงานรัฐบาลที่ต้องจัดการข้อมูลจำนวนมาก ขณะนี้แต่ละหน่วยงานของภาครัฐมีฐานข้อมูลที่แยกออกจากกัน ดังนั้น เวลาที่ต้องการข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆจะใช้เวลานานมาก อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อการจัดเก็บข้อมูลจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐได้

ปัจจุบัน ประเทศเอสโตเนียได้ดำเนินการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการทำงานของภาครัฐแล้ว เกือบทุกบริการสาธารณะในเอสโตเนียมีสิทธิเข้าถึง X-Road ซึ่งเป็น Decentralized Digital Ledger ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยและประชาชนทั้งหมดในประเทศ เทคโนโลยีนี้ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสขั้นสูง (Advanced Encryption Technology) รวมถึงการใช้ 2-Factor Authentication (การยืนยันตัวตนผ่านสองขั้นตอน) เพื่อความปลอดภัย และให้ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลของตนเองได้ อ้างอิงจากรายงานของ Gartner ภายในปี 2022 ประชากรกว่าพันล้านคนจะมีข้อมูลเกี่ยวกับตนถูกเก็บไว้ในบล็อคเชน

5. เข้าสู่ยุคของ "สัญญาอัจฉริยะ"

ประโยชน์ของบล็อกเชนไม่ได้อยู่แค่ในขอบเขตของสกุลเงินดิจิทัลและการจัดเก็บข้อมูลเพียงเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในการทำข้อตกลงและเงื่อนไขต่างๆ หรือที่เรียกว่า "สัญญาอัจฉริยะ" (Smart Contracts) แนวคิดหลักของ Smart Contracts คือการดำเนินการโดยอัตโนมัติเมื่อมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น การส่งมอบสินค้าหลังจากได้รับเงินแล้ว ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่นๆในสัญญาควรได้รับการออกแบบมาเพื่อทำงานแบบอัตโนมัติด้วย ขณะนี้มีบริษัทประกันภัย เอไอจี กำลังทดลองระบบบล็อกเชนที่สามารถสร้างข้อตกลงและเงื่อนไขของประกันภัยที่ซับซ้อนได้

ไรก็ตาม Smarts Contract นั้นออกแบบมาเพื่อลดการทำงานของตัวกลางในระบบ และยังไม่มีกฎหมายออกมาเพื่อรองรับเทคโนโลยีนี้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากเกิดข้อพิพาทระหว่างฝ่ายต่างๆ ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าควรจะยุติข้อพิพาทด้านสัญญาอย่างไร ดังนั้น สถาบันต่างๆและหน่วยงานทางกฎหมายจำเป็นต้องออกกฎหมายรองรับให้ Smart Contracts ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าหากสถาบันต่างๆไม่ยอมรับ Smart Contracts ก็อาจใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่มีผลทางกฎหมาย

6. บล็อกเชนกับโลก Internet of Things (IoT)

International Data Corporation (IDC) รายงานว่าหลาย บริษัท IoT กำลังพิจารณาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในโซลูชั่นของตน IDC คาดว่าเกือบร้อยละ 20 ของการใช้งาน IoT จะเปิดให้บริการบล็อกเชนโซลูชั่น ภายในปี 2019 การที่บริษัท IoT นำบล็อกเชนเข้ามาในกระบวนการทำงาน เพราะมันสามารถเพิ่มความปลอดภัย และสามารถขยายในสเกลที่ใหญ่ได้สำหรับการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ที่เชื่อมกับ IoT ปัจจุบันโปรโตคอลการรักษาความปลอดภัยแสดงให้เห็นถึงช่องโหว่มากมายเมื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์ IoT ดังนั้น บล็อกเชนจะช่วยแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยและปิดช่องโหว่ต่อการโจมตีในโลกไซเบอร์ได้

นอกจากนี้ บล็อกเชนจะอนุญาตให้อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) สามารถทำธุรกรรมแบบอัตโนมัติได้ เนื่องจากมีลักษณะการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ บล็อกเชนจึงช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆทำธุรกรรมได้รวดเร็วและถูกกว่าปกติ ทั้งนี้ อุปกรณ์ IoT จะต้องใช้ประโยชน์จากสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) เวลาโอนเงินหรือข้อมูลต่างๆ เพื่อกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขระหว่างทั้งสองฝ่าย