posttoday

จ่อตั้งตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

17 มกราคม 2562

ตลท.ทดสอบตลาด ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลครึ่งปีหลัง ส่วนคริปโทฯ มีหรือไม่ก็ได้ พร้อมนิยามโปรแกรมเทรดให้แน่ชัด

ตลท.ทดสอบตลาด ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลครึ่งปีหลัง ส่วนคริปโทฯ มีหรือไม่ก็ได้ พร้อมนิยามโปรแกรมเทรดให้แน่ชัด
          
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ครึ่งหลังปี 2562 ตลท.เตรียมทำต้นแบบทดลอง (โปรโตไทป์) ตลาดซื้อขายสินทรัพย์ประเภทดิจิทัล (Digital Exchange) ซึ่งเป็นไปตามการพัฒนาการของเทคโนโลยีและความต้องการของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ปัจจุบันตลาดดิจิทัลที่เกิดขึ้นแล้วมี 3 ประเทศ คือ สตุตการ์ทของเยอรมนี มอสโกของรัสเซีย และสวิตเซอร์แลนด์

อย่างไรก็ดี รูปแบบที่จะทำให้ไปถึงได้นั้น ตลท.อยู่ระหว่างการปรับรูปแบบให้เปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นอยู่ 4 ขั้นตอน คือ 1.ต้องมีการแปลงสินทรัพย์ให้เป็น รูปแบบดิจิทัล 2.มีขั้นตอนการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (KYC) 3.ต้องมีตลาดที่สามารถซื้อขายแบบดิจิทัล และ 4.ต้องมีระบบเก็บสินทรัพย์หรืองานหลังบ้านที่ปลอดภัย

"สินทรัพย์ในตลาดดังกล่าวจะมี รูปแบบที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอเรนซีก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในตลาดนี้จำเป็นต้องมีคริปโทฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือและหาแนวทางต่างๆ กับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง" นายภากร กล่าว

ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน ตลท.อยู่ระหว่างการปรับคำจำกัดความ หรือนิยาม เรื่องการใช้โปรแกรมการซื้อขายในสินค้าตลาดทุนเพื่อสร้างความเข้าใจและความชัดเจนในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับจากกฎเกณฑ์เดิมที่อยู่แล้ว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎใหม่แต่อย่างใด

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ หรือสมาคม บล. กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทหลักทรัพย์มีความพร้อมที่จะปรับตัวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่สามารถนำมาอยู่ในพอร์ตการลงทุนที่สามารถใช้บริหารจัดการความเสี่ยงหรือหาผลตอบแทนมากขึ้น

"เมื่อ ตลท.เป็นผู้ลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานให้แล้ว บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ก็ต้องไปลงทุนเตรียมระบบหลังบ้าน หรือแบ็กออฟฟิศ ให้มีความพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินลงทุน แต่ถ้าลงทุนครั้งแรกเหมือนยุคที่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตใหม่ๆ แต่เมื่อทุกอย่างรันไปโดยอัตโนมัติทุกอย่างก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว" นางภัทธีรา กล่าว

อย่างไรก็ดี นางภัทธีรา มองว่า สิ่งที่ บริษัทหลักทรัพย์จะเข้าสู่ระบบสินทรัพย์ดิจิทัล คือ การเป็นนายหน้าและผู้ค้า คริปโทฯ (โบรกเกอร์/ดีลเลอร์) เป็นหลัก โดยมองว่าข้อดีหรือข้อได้เปรียบของบริษัทหลักทรัพย์ คือ มีการทำธุรกิจมานาน มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้และมีความน่าเชื่อถือ ที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ง่ายกว่าผู้เล่น รายใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งหากจะทำก็ต้องไปยื่นขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อนำเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป เช่นเดียวกับผู้ประกอบการ 4 รายที่คลังได้อนุมัติให้ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ซึ่งในอนาคตอาจได้เห็นบริษัทหลักทรัพย์ร่วมมือกับผู้ประกอบการ 4 รายดังกล่าวก็ได้

นางภัทธีรา กล่าวต่อถึงกรณีที่สมาคม บล.ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการ แต่ฝากให้ ตลท.พิจารณา คือ การให้คำนิยามของคำว่า การใช้โปรแกรมซื้อขายสินค้าตราสารทุน (โปรแกรมเทรดดิ้ง) การใช้หุ่นยนต์ในการซื้อขาย การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือการใช้โปรแกรมที่เข้ามาช่วยการซื้อขาย เพียงแต่ใช้เทคนิคการลงทุนจับการลงทุน เนื่องจากจะช่วย สร้างความเข้าใจการลงทุนที่ถูกต้อง แล้ว ยังจะนำไปสู่การกำกับดูแลที่ดีขึ้นด้วย